สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 20 มี.ค. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 20 มี.ค. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 4% เมื่อวันศุกร์ (20 มี.ค.) และร่วงลงในรอบสัปดาห์ที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2551 เนื่องจากนักลงทุนยังคงเทขายหุ้นออกมา ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจากที่รัฐแคลิฟอร์เนีย และรัฐนิวยอร์กของสหรัฐประกาศให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 19,173.98 จุด ร่วงลง 913.21 จุด หรือ -4.55%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,304.92 จุด ลดลง 104.47 จุด หรือ -4.34% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,879.52 จุด ลดลง 271.06 จุด หรือ -3.79%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (20 มี.ค.) โดยปรับตัวขึ้นเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน เนื่องจากนักลงทุนขานรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากธนาคารกลางและรัฐบาลต่างๆ เพื่อรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ดัชนี Stoxx Europe 600 บวก 1.82% ปิดที่ 293.04 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,048.80 จุด เพิ่มขึ้น 193.31 จุด หรือ +5.01%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 8,928.95 จุด เพิ่มขึ้น 318.52 จุด หรือ +3.70% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,190.78 จุด เพิ่มขึ้น 39.17 จุด หรือ +0.76%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ (20 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับความหวังที่ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากธนาคารกลางและรัฐบาลต่างๆ จะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,190.78 จุด เพิ่มขึ้น 39.17 จุด หรือ +0.76%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 10% เมื่อวันศุกร์ (20 มี.ค.) และร่วงลงรายสัปดาห์รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามอ่าว (Gulf War) เมื่อปี 2534 เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุปสงค์น้ำมันทั่วโลก ขณะที่มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐรายหนึ่งจะเดินทางไปยังซาอุดิอาระเบียเพื่อหาทางรับมือกับผลกระทบจากการทำสงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 2.69 ดอลลาร์ หรือ 10.7% ปิดที่ 22.53 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนพ.ค. ร่วงลง 1.49 ดอลลาร์ หรือ 5.2% ปิดที่ 26.98 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (20 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงพากันเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งฉุดตลาดหุ้นสหรัฐ และดอลลาร์ร่วงลงอย่างหนัก
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 5.3 ดอลลาร์ หรือ 0.36% ปิดที่ 1,484.6 ดอลลาร์/ออนซ์ และในรอบสัปดาห์นี้ สัญญาทองคำปรับตัวขึ้น 2.1%
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 25.1 เซนต์ หรือ 2.07% ปิดที่ 12.385 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 25.7 ดอลลาร์ หรือ 4.31% ปิดที่ 622.5 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 10.80 ดอลลาร์ หรือ 0.7% ปิดที่ 1,540.20 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (20 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนแห่ถือเงินสด และเข้าซื้อดอลลาร์ซึ่งถือเป็นสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งวัดค่าดอลลาร์เมื่อเทียบกับ 6 สกุลเงินสำคัญ ปรับตัวขึ้น 0.08% สู่ระดับ 102.8293 และในรอบสัปดาห์นี้ ดอลาร์แข็งค่าขึ้น 4.32% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินปี 2551
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 111.17 เยน จากระดับ 110.63 เยน และดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9891 ฟรังก์ จากระดับ 0.9864 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.4429 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.4514 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.0654 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0672 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าสู่ระดับ 1.1569 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1525 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าแตะที่ระดับ 0.5806 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.5766 ดอลลาร์สหรัฐ