“พาณิชย์” ยืดเวลาห้ามส่งออกไข่ไก่ถึงสิ้นเดือนเม.ย. แก้ปัญหาขาดแคลน-กักตุนสินค้า

"กระทรวงพาณิชย์" ยืดเวลาห้ามส่งออกไข่ไก่ออกไปอีก 30 วันถึงสิ้นเดือนเม.ย. แก้ปัญหาขาดแคลน-ปชช.กักตุนสินค้า


นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาต่ออายุมาตรการห้ามส่งออกไข่ไก่ออกไปอีก 30 วัน หรือสิ้นสุดสิ้นเดือน เม.ย.นี้

จากเดิมที่ได้ห้ามส่งออกชั่วคราวเป็นเวลา 7 วัน หรือจะสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.นี้ แต่หากสถานการณ์คลี่คลายจะพิจารณายกเลิกมาตรการห้ามส่งออกทันที

อย่างไรก็ตาม จากการที่กรมการค้าภายในได้ติดตามสถานการณ์การค้าไข่ไก่พบว่า ขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้น หลังจากกระทรวงพาณิชย์ได้ออกมาตรการต่างๆ ทั้งห้ามส่งออกชั่วคราวเป็นเวลา 7 วัน ยืดอายุแม่ไก่ไข่ยืนกรงจาก 72 สัปดาห์เป็น 80 สัปดาห์ เพื่อให้มีปริมาณไข่ไก่เพิ่มขึ้น

พร้อมกันนี้ยังเร่งรัดให้ฟาร์มไข่ไก่ส่งไข่ไก่ไปยังศูนย์กระจายสินค้า (ดีซี) ของห้างต่างๆ เพื่อให้ดีซีส่งสินค้าถึงห้างอย่างรวดเร็ว ห้างต่างๆ จำกัดปริมาณการซื้อ รวมถึงกำหนดราคาหน้าฟาร์มชนิดคละไว้ที่ไม่เกินฟองละ 2.80 บาท รวมถึงการดำเนินคดีกับผู้ค้าที่ฉวยโอกาสเอาเปรียบค้ากำไรเกินควรเอาเปรียบประชาชน

“ตอนนี้พบว่าสถานการณ์ดีขึ้น บางพื้นที่มีปริมาณไข่ไก่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องผู้บริโภคได้ แต่ในบางพื้นที่ยังไม่เพียงพอ เพราะประชาชนยังซื้อกักตุนอยู่จำนวนมาก จึงได้ต่ออายุการห้ามส่งออกต่อไปอีก 30 วัน จากเดิมที่จะหมดอายุห้ามส่งออกวันที่ 31 มี.ค.นี้ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายจะยกเลิกห้ามส่งออกทันที” นายจุรินทร์ กล่าว

นอกจากนั้นในวันพรุ่งนี้ (31 มี.ค.) กระทรวงพาณิชย์จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติงบประมาณที่จะนำมาซื้อหน้ากากอนามัยทางการแพทย์เพื่อนำไปแจกให้กับโรงพยาบาลทุกแห่งของทุกสังกัดทั่วประเทศ โดยให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้กระจายให้วันละประมาณ 1.3 ล้านชิ้นของจำนวนที่ผลิตได้วันละ 2.3 ล้านชิ้น

ส่วนที่เหลืออีกวันละ 1 ล้านชิ้นจะซื้อแจกจ่ายให้กับจังหวัดต่างๆ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณาว่าสมควรจะแจกจ่ายให้ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

“ก่อนหน้านี้ ศูนย์บริหารโควิด-19 ได้ตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุดขึ้นมาดูแลหน้ากากอนามัย โดยหนึ่งในนั้นคือ คณะอนุกรรมการพิจารณาราคากลางหน้ากากอนามัย โดยมีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน เพื่อพิจารณาราคากลางของหน้ากากอนามัย ที่รัฐบาลจะจัดซื้อเพื่อแจกจ่ายให้กับกลุ่มต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา และจะเสนอให้ ครม.พรุ่งนี้ ส่วนระยะเวลาในการซื้อแจกจะยาวนานแค่ไหนอยู่ที่การพิจารณาของศูนย์บริหารโควิด-19 ขณะที่ช่องทางการค้าผ่านร้านธงฟ้าได้ยกเลิกแล้ว ส่วนร้านสะดวกซื้อ ห้างต่างๆ จะยังมีขายอยู่อีกหรือไม่ อยู่ที่การพิจารณาของผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด” นายจุรินทร์ กล่าว

ส่วนคณะอนุกรรมการอีก 2 ชุดคือ ชุดที่พิจารณาการกระจายไปสู่ผู้ใช้กลุ่มต่างๆ มีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน และชุดที่พิจารณาการส่งออก มีเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นประธาน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ขออนุมัติงบประมาณจาก ครม.กว่า 100 ล้านบาท เพื่อนำมาจ่ายชดเชยต้นทุนให้กับผู้ผลิตหน้ากากอนามัยไปแล้ว จากปัญหาต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะแผ่นกรองเชื้อโรค (ฟิลเตอร์) ที่นำเข้าปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยจ่ายชดเชยให้แผ่นละ 1 บาท

Back to top button