ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทยเดือนก.พ.วูบทุกภาคส่วน เซ่นผลกระทบ “โควิด-19”

ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทยเดือนก.พ.วูบทุกภาคส่วน เซ่นผลกระทบ "โควิด-19"


ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.พ.63 หดตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน โดยการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวสูง นอกจากนี้การส่งออกและการนำเข้าสินค้าได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการปิดเมืองของจีน ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวต่อเนื่อง มีเพียงการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้จากการเร่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็น ทั้งนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หดตัวทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคอกชนหดตัวสอดคล้องกัน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากเดือนก่อน จากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับสูงขึ้น ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ลดลงมา แม้รายรับจากภาคการท่องเที่ยวจะลดลง ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิ

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงที่ 42.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวในเกือบทุกสัญชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่หดตัวรุนแรง เนื่องจากทางการจีนประกาศใช้มาตรการปิดเมืองในหลายพื้นที่ และห้ามธุรกิจท่องเที่ยวแบบกลุ่มทัวร์เดินทางออกนอกประเทศ เพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19 ที่ขยายวงกว้างขึ้นในประเทศจีน

อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียยังขยายตัวดี เนื่องจากสถานการณ์การระบาดในประเทศยังไม่รุนแรงในเดือนกุมภาพันธ์ นักท่องเที่ยวจึงเดินทางท่องเที่ยวตามแผนที่วางไว้ ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงมากส่งผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว อาทิ ธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร และธุรกิจขนส่ง

ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 3.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัวต่อเนื่องที่ 1.3% เนื่องจากอุปสงค์ต่างประเทศยังคงชะลอตัว นอกจากนี้ การระบาดของโควิด-19 และมาตรการปิดเมืองของจีน ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในจีนลดลงมาก ทั้งการบริโภคในประเทศ การผลิต และการขนส่งสินค้า ทำให้การส่งออกสินค้าของไทยไปจีนหดตัวสูงโดยเฉพาะสินค้าเกษตรโดยเฉพาะผลไม้ และปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ รวมทั้งการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปฮ่องกงที่คำสั่งซื้อลดลงมาก อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ขยายตัวได้ เนื่องจากได้รับผลดีจากการย้ายฐานการผลิตมาไทยในช่วงก่อนหน้า

ด้านการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน จากความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านพลังงานเป็นหลัก

ส่วนเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนที่มีการเร่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นจากความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายในหมวดอื่นๆ หดตัว โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดบริการ ทั้งหมวดโรงแรมและภัตตาคาร และหมวดขนส่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้าน

นอกจากนี้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนหดตัวสูงขึ้นตามยอดขายรถยนต์ทุกประเภท สอดคล้องกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่อ่อนแอลง ทั้งในมิติด้านรายได้ การจ้างงาน และความเชื่อมั่น ขณะที่ภาระหนี้ยังอยู่ในระดับสูง

ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวสูงขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการนำเข้าสินค้าทุนจากจีนเป็นสำคัญ สำหรับเครื่องชี้การลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์และหมวดก่อสร้างตัวอื่นๆ หดตัวในทุกองค์ประกอบ สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอ รวมทั้งความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่แย่ลงจากการระบาดของโควิด-19

ด้านมูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัว 7.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า ทั้งการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะการนำเข้าจากจีน ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองของจีนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับอุปสงค์ที่อ่อนแอ อย่างไรก็ดี ยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจนจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตของจีนต่อการผลิตของไทย ส่วนหนึ่งเนื่องจากธุรกิจยังมีสินค้าคงคลังที่เป็นวัตถุดิบและชิ้นส่วนเพียงพอสำหรับการผลิตในเดือนกุมภาพันธ์

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.74% ลดลงจากเดือนก่อน จากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับสูงขึ้น ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ลดลงมาก แม้รายรับภาคการท่องเที่ยวลดลง ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิ ทั้งจากด้านสินทรัพย์ตามการออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) และสถาบันรับฝากเงิน (ODCs) เป็นสำคัญ และด้านหนี้สินตามการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นของสถาบันรับฝากเงินเพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งการขายสุทธิหลักทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างประเทศ สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนในภูมิภาค

Back to top button