“นายกฯ” เล็งยืดพรก.ฉุกเฉิน-หยุดขนส่ง หลังปชช.แห่กลับตจว. หวั่นแพร่ “โควิด-19”
"นายกฯ" เล็งยืดพรก.ฉุกเฉิน-หยุดขนส่ง หลังปชช.แห่กลับตจว. หวั่นแพร่ "โควิด-19"
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยืนยันยังไม่มีแนวโน้มยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ประกาศบังคับใช้ถึงสิ้นเดือน เม.ย.63 แต่ภายใต้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน สามารถบังคับใช้ได้ 3 เดือน และขยายเวลาได้
โดยรัฐบาลจะประเมินผลการบังคับใช้มาตรการต่างๆใน 1 เดือนแรกก่อน หากส่วนใดดำเนินการแล้วสถานการณ์ดีขึ้นก็อาจจะผ่อนผันได้ แต่ถ้ามาตรการใดยังมีความจำเป็นก็จะขยายเวลาการบังคับใช้และเพิ่มความเข้มข้นขึ้นตามลำดับ
ขณะที่ในส่วนของการปรับมาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดการแพร่ระบาดนั้น กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบทางกฎหมายโดยตรงตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯให้อำนาจในการพิจารณามาตรการต่างๆ เช่น จังหวัดที่มีตัวเลขติดเชื้อมากขึ้น หรือ พื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดมาแล้วก่อนหน้านี้ ก็ได้มีการดำเนินมาตรการปิดร้านค้า ห้ามจำหน่ายสุรา ห้ามเล่นกีฬา ที่สำคัญห้ามเล่นการพนันทุกรูปแบบ
พร้อมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ พลเรือน ตำรวจทหาร เข้มงวดการลักลอบเล่นการพนันทุกพื้นที่ รวมถึงเตือนร้านค้าอย่าจำหน่ายสินค้าเกินราคา ซึ่งประชาชนสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำจุดสกัดต่างๆได้ เพราะมีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จะเข้าจับกุม รวมถึงการปล่อยกู้นอกระบบในช่วงที่ประชาชนกำลังลำบาก จึงกำชับให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการแก้ไข และป้องกันไม่ให้ทำผิดกฎหมาย โดยจะดำเนินการกับผู้ทำผิดอย่างไม่ละเว้น
พล.อ.ประยุทธ์ ยังระบุอีกว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปประเมินการเดินทางของประชาชน โดยยังคงพบว่ามีการเคลื่อนย้ายประชาชนเป็นจำนวนมาก จึงให้ระบบการขนส่งภาครัฐพิจารณาความจำเป็นในการลดจำนวนเที่ยวบริการลง ซึ่งหากยังไม่สามารถควบคุมกันเองได้ และยังพบการเดินทางมีมากก็จะสั่งหยุดบริการทั้งหมดเพื่อลดการแพร่เชื้อ
ส่วนกรณีที่ประชาชนเดินทางออกจาก กทม. ไปยังภูมิลำเนาครบ 7 วันแล้ว จะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่าสามารถตรวจสอบคัดกรองผู้ติดเชื้อได้มากขึ้น ประชาชนที่รู้ว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงมาพบแพทย์มากขึ้น จึงทำให้มีโอกาสพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
ขณะที่ประชาชนที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงและดูแลสุขภาพดีก็ไม่จำเป็นต้องไปตรวจคัดกรอง เพราะต้องเข้าใจว่ารัฐบาลต้องควบคุมงบประมาณค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ เพื่อดูแลกลุ่มผู้ติดเชื้อและกลุ่มที่มีความเสี่ยงอย่างแท้จริง
สำหรับการทำบุญทางศาสนาพุทธ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เน้นย้ำให้มีการวางมาตรการที่เหมาะสม ทั้งการสวดมนต์ การทำบุญ ซึ่งตนเองไม่สามารถลงรายละเอียดได้ทั้งหมด จึงฝากทุกส่วนราชการ ภาคเอกชน ประชาสังคม มีการกำหนดมาตรการของตัวเองรองรับกับนโยบายหลักของรัฐบาลด้วย
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงมาตรการเงินเยียวยาจากรัฐบาล รายละ 5,000 บาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการลงทะเบียนว่า ได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง ไปตรวจสอบอย่างรอบคอบและการคัดกรองผู้ได้รับผลกระทบ หลังจากได้รับการยืนยันสิทธิ์แล้วกระทรวงคลังก็จะโอนเงินเข้าในระบบของผู้ได้รับผลกระทบภายใน 7 วัน
ดังนั้น ผู้ที่ลงทะเบียนถึง 20 ล้านคน ไม่ได้หมายความว่าจะได้เงินทั้งหมด แต่คนที่ไม่มีคุณสมบัติไม่ครบก็ต้องถูกคัดแยกออกไป หากใครให้ข้อมูลเท็จและถูกตรวจสอบภายหลังก็จะถูกเรียกเงินคืน
ส่วนกลุ่มคนที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการขั้นต้นนี้ รัฐบาลเตรียมหามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม โดยเตรียมมาตรการระยะ 3 และ 4 ไว้แล้ว ซึ่งมาตรการที่ออกมาจะมีวงรอบ 3 เดือน โดยจะพิจารณาจัดหางบประมาณทั้งภายในและภายนอก รวมถึงการออก พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อให้มีเม็ดเงินเพียงพอ และรัฐบาลจะดำเนินการอย่างเต็มที่ ซึ่งจะเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ