สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 31 มี.ค. 2563

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 31 มี.ค. 2563


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 400 จุดเมื่อคืนนี้ (31 มี.ค.) และเมื่อพิจารณาตลอดไตรมาส 1/2563 ดัชนีดาวโจนส์ทำสถิติทรุดตัวลงหนักสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 21,917.16 จุด ร่วงลง 410.32 จุด หรือ -1.84% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,584.59 จุด ลดลง 42.06 จุด หรือ -1.60% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,700.10 จุด ลดลง 74.05 จุด หรือ -0.95%

เมื่อพิจารณาตลอดทั้งเดือนมี.ค. ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงทั้งสิ้น 13.7% ขณะที่ดัชนี S&P500 ร่วงลง 12.5% และดัชนี Nasdaq ลดลง 10.1%

หากพิจารณาตลอดทั้งไตรมาส 1/2563 ดัชนีดาวโจนส์ทรุดตัวลง 23.2% ทำสถิติดิ่งลงหนักสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ดัชนี S&P500 ร่วงลง 20% และดัชนี Nasdaq ปรับตัวลง 14.2%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (31 มี.ค.) ซึ่งเป็นวันซื้อขายสุดท้ายของไตรมาสแรกและการซื้อขายเป็นไปอย่างผันผวน โดยตลาดได้แรงหนุนจากการที่จีนเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการที่พุ่งขึ้นในเดือนมี.ค. แต่ตลาดปิดทำการไตรมาสแรกร่วงลงหนักที่สุดในรอบเกือบ 18 ปี ซึ่งเป็นผลจากแรงเทขายหุ้น ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ดัชนี Stoxx Europe 600 บวก 1.65% ปิดที่ 320.06 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,396.12 จุด เพิ่มขึ้น 17.62 จุด หรือ +0.40%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 9,935.84 จุด เพิ่มขึ้น 119.87 จุด หรือ +1.22% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,671.96 จุด เพิ่มขึ้น 108.22 จุด หรือ +1.95%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (31 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของหุ้นกลุ่มพลังงานซึ่งดีดตัวขึ้นตามราคาน้ำมัน และการที่จีนเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการพุ่งขึ้นในเดือนมี.ค. ได้เพิ่มความหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่ตลาดร่วงลงรุนแรงที่สุดในไตรมาสแรกนับตั้งแต่ปี 2530

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,671.96 จุด เพิ่มขึ้น 108.22 จุด หรือ +1.95%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (31 มี.ค.) หลังจากจีนเปิดเผยรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตที่พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในเดือนมี.ค. นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้ปัจจัยหนุนจากข่าวผู้นำสหรัฐและรัสเซียเห็นพ้องกันในการจัดการเจรจาเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมัน

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 39 เซนต์ หรือ 1.9% ปิดที่ 20.48 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 2 เซนต์ หรือ 0.09% ปิดที่ 22.74 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (31 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนลดความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากมีรายงานว่า ดัชนีภาคการผลิตของจีนทะยานขึ้นแข็งแกร่งในเดือนมี.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐอยู่ในระดับที่ดีเกินคาด อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากภาพรวมตลอดเดือนมี.ค.และตลอดไตรมาส 1/2563 สัญญาทองคำปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับโควิด-19 เป็นปัจจัยหนุนคำสั่งซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 46.6 ดอลลาร์ หรือ 2.84% ปิดที่ 1596.6 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 2.4 เซนต์ หรือ 0.17% ปิดที่ 14.156 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 6.1 ดอลลาร์ หรือ 0.84% ปิดที่ 729.9 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ทะยานขึ้น 107.20 ดอลลาร์ หรือ 4.9% ปิดที่ 2,304.80 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (31 มี.ค.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศข้อตกลงซื้อคืนพันธบัตรสำหรับหน่วยงานด้านการเงินต่างชาติและระหว่างประเทศ (FIMA Repo Facility) เพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบการเงินทั่วโลก ท่ามกลางวิกฤตการณ์โควิด-19

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.68 เยน จากระดับ 108.00 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.4090 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.4160 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.9636 ฟรังก์ จากระดับ 0.9597 ฟรังก์

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1016 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1027 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.2434 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2386 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.6144 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6153 ดอลลาร์สหรัฐ

 

Back to top button