“พาณิชย์” ชี้ “โควิด” ฉุด CPI มี.ค.หดตัว-0.54% ต่ำสุดรอบ 51 ด. หั่นเป้าทั้งปีเหลือ-0.2%
"กระทรวงพาณิชย์" ชี้ "โควิด" ฉุด CPI มี.ค. หดตัว-0.54% ต่ำสุดรอบ 51 เดือน หั่นเป้าทั้งปีเหลือ-0.2%
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อ ในเดือน มี.ค.63 อยู่ที่ 101.82 ลดลง -0.54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง -0.86% จากเดือน ก.พ.63 โดยในช่วง 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) ของปี 63 เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.41%
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน มี.ค.63 อยู่ที่ 102.89 เพิ่มขึ้น 0.54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง -0.02% จากเดือน ก.พ.63 และช่วง 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.53%
ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 104.95 เพิ่มขึ้น 1.58% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง -0.25% จากเดือน ก.พ.63 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 100.07 ลดลง -1.74% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง -1.21% จากเดือน ก.พ.63
ทั้งนี้ น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน มี.ค.63 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ -0.54% ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 33 เดือน และเป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 51 เดือน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 48 เดือนตามภาวะสงครามราคาน้ำมันโลกระหว่างซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศลดลงถึง 11 ครั้งในเดือน มี.ค.
นอกจากนี้ กลุ่มอาหารสด แม้จะยังขยายตัว 2.46% แต่เป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบปี เป็นผลจากความต้องการที่ลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยว การปิดให้บริการของร้านค้า และการปิดภาคเรียน
อย่างไรก็ดี สินค้าบางรายการมีราคาสูงขึ้น เช่น มะนาว เป็นการสูงขึ้นตามภาวะภัยแล้ง และไข่ไก่ ที่ราคาสูงขึ้นตามพฤติกรรมการซื้อครั้งละจำนวนมากของผู้บริโภค ประกอบกับผลผลิตไข่ไก่ลดลงในช่วงฤดูแล้ง
น.ส.พิมพ์ชนก ระบุว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นภาวะเงินฝืด เพียงแต่อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงนี้มาจากภาวะของเศรษฐกิจถดถอย ไม่ได้เป็นภาวะเงินฝืดแบบปกติ
“ตอนนี้เงินฝืดคงจะไม่สำคัญเท่ากับเราเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว มันเป็นภาวะของ recession ไม่ใช่ deflation มันไม่ใช่ภาวะเงินฝืดแบบปกติ” ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ
พร้อมกันนี้ มองว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และแนวโน้มการลดลงของราคาพลังงานโลก เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสแรกของปี โดยส่งผลทั้งด้านอุปสงค์และด้านอุปทาน และยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะคลี่คลายได้เมื่อใด ในขณะที่สถานการณ์ภัยแล้ง แม้จะส่งผลต่อผลผลิตสินค้าเกษตรบางชนิด แต่โดยรวมน่าจะมีผลน้อยกว่าปัจจัยด้านอุปสงค์ ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงดำเนินต่อไปภายใต้ความไม่แน่นอน และส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไปจนถึงครึ่งหลังของปี
ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 63 ลงเหลือ -1.0 ถึง -0.2% (ค่ากลางอยู่ที่ -0.6%) จากเดิม 0.4 ถึง 1.2% (ค่ากลางอยู่ที่ 0.8%)
ทั้งนี้ หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ก็อาจจะมีการทบทวนคาดการณ์ดังกล่าวเพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์อีกครั้งในระยะต่อไป
สำหรับการปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อใหม่ในครั้งนี้ มาจากสมมติฐาน 3 ตัวหลักที่เปลี่ยนไปเช่นกัน โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้ลดลงเหลือ -5.8 ถึง -4.8% 2.ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ 35-45 ดอลลาร์/บาร์เรล และ 3.อัตราแลกเปลี่ยน ทั้งปีเฉลี่ยที่ระดับ 30.50-32.50 บาท/ดอลลาร์
น.ส.พิมพ์ชนก ระบุว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ได้มอบนโยบายให้ดูแลประชาชนในสถานการณ์เช่นนี้ โดยกำชับใน 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.ดูแลสินค้าอุปโภคบริโภคให้มีปริมาณที่เพียงพอ 2.ดูแลสินค้าให้มีราคาที่เหมาะสม และ 3.ดูแลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพให้ได้มากที่สุด