สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 7 เม.ย. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 7 เม.ย. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (7 เม.ย.) เนื่องจากราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ร่วงลงกว่า 9% เป็นปัจจัยฉุดตลาดในช่วงท้ายของการซื้อขาย หลังจากดัชนีดาวโจนส์ทะยานขึ้นอย่างแข็งแกร่งในระหว่างวัน ขานรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีแนวโน้มดีขึ้น ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาแนวโน้มการออกมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะครอบคลุมถึงการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 22,653.86 จุด ลดลง 26.13 จุด หรือ -0.12% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,659.41 จุด ลดลง 4.27 จุด หรือ -0.16% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,887.26 จุด ลดลง 25.98 จุด หรือ -0.33%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นเป็นวันที่ 2 ติดต่อกันเมื่อคืนนี้ (7 เม.ย.) โดยแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 เดือน เนื่องจากนักลงทุนขานรับสัญญาณที่ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจชะลอตัวลง หลังมีรายงานว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในอิตาลี, สเปน และสหรัฐ มีจำนวนลดลง
ดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น 1.88% ปิดที่ 326.61 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,438.27 จุด เพิ่มขึ้น 92.14 จุด หรือ +2.12%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 10,356.70 จุด เพิ่มขึ้น 281.53 จุด หรือ +2.79% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,704.45 จุด เพิ่มขึ้น 122.06 จุด หรือ +2.19%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (7 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงในยุโรป ซึ่งกระตุ้นให้มีแรงซื้อกลับเข้ามาในหุ้นกลุ่มพลังงาน, กลุ่มธนาคาร และกลุ่มการเดินทางที่ร่วงลงอย่างหนักก่อนหน้านี้
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,704.45 จุด เพิ่มขึ้น 122.06 จุด หรือ +2.19%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 9% เมื่อคืนนี้ (7 เม.ย.) หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในปี 2563 ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และประเทศพันธมิตรซึ่งนำโดยรัสเซีย ในวันพฤหัสบดีนี้ และรอดูรายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ของสหรัฐซึ่ง EIA มีกำหนดเปิดเผยในวันนี้
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. ร่วงลง 2.45 ดอลลาร์ หรือ 9.4% ปิดที่ 23.63 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 1.18 ดอลลาร์ หรือ 3.6% ปิดที่ 31.87 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (7 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย และเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า หลังจากดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กทะยานขึ้นอย่างแข็งแกร่งในการซื้อขายระหว่างวัน ก่อนที่จะอ่อนแรงลงในช่วงท้ายตลาดเนื่องจากถูกฉุดจากราคาน้ำมันที่ร่วงลง ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 10.2 ดอลลาร์ หรือ 0.6% ปิดที่ 1,683.7 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 31.1 เซนต์ หรือ 2.05% ปิดที่ 15.48 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 13 ดอลลาร์ หรือ 1.78% ปิดที่ 745 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. พุ่งขึ้น 17.50 ดอลลาร์ หรือ 0.8% ปิดที่ 2,094.30 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (7 เม.ย.) เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนเดินหน้าซื้อสกุลเงินดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.27 เยน จากระดับ 107.85 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9760 ฟรังก์ จากระดับ 0.9730 ฟรังก์ แต่หากเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.4154 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.4190 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0811 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0851 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2272 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2396 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.5998 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6048 ดอลลาร์สหรัฐ