เจ้าหนี้ช้ำหนัก! ACAP ผิดนัดชำระดบ.หุ้นกู้ 2 รุ่น 500 ลบ. จับตาสิ้นปีส่อ “Default”
เจ้าหนี้ช้ำหนัก! ACAP ผิดนัดชำระดบ.หุ้นกู้ 2 รุ่น 500 ลบ. จับตาสิ้นปีส่อ "Default"
บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACAP แจ้งว่าตามที่บริษัทได้ออกหุ้นกู้รุ่น ACAP190A และ รุ่น ACAP207A มีมูลค่าเสนอขายรวม 1.48 พันล้านบาท ซึ่งหุ้นกู้ทั้ง 2 รุ่นดังกล่าวได้ครบกำหนดชำระดอกเบี้ย เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 นั้น บริษัทไม่สามารถชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้
สำหรับสาเหตุของการผิดนัดชำระดอกเบี้ยครั้งนี้ เกิดจากบริษัทไม่ได้รับชำระเงินจากลูกหนี้เงินให้กู้ยืมตามที่ได้คาดการณ์ไว้ว่า บริษัทจะได้กระแสเงินสดจากการเรียกเงินให้กู้ยืมจากลูกหนี้จำนวน 2 ราย ซึ่งลูกหนี้ทั้ง 2 รายนี้ ถูกชะลอการพิจารณาเงินกู้จากสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง อันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงทำให้ลูกหนี้เงินให้กู้ยืมทั้ง 2 รายนี้ ยังไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่บริษัทได้
อย่างไรก็ตาม ผลของการผิดนัดชำระดอกเบี้ยครั้งนี้ มูลหนี้ดอกเบี้ยรวมกัน ไม่เกิน 500 ล้านบาท จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการผิดนัดชำระหุ้นกู้รุ่นอื่นๆ ที่เหลือ
ทั้งนี้ บริษัทจะรีบจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ทันทีที่สถานการณ์ประเทศเข้าสู่ภาวะปกติเพื่อแจ้งแนวทางการบริหารจัดการหนี้ และแผนการแก้ไขปัญหาหนี้หุ้นกู้ทั้งหมดของบริษัทต่อไป
สำหรับหุ้นกู้รุ่น ACAP190A ออกเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2560 ครบกำหนดวันที่ 6 ตุลาคม 2563 มีจำนวนที่เสนอขาย 768,600,000 บาท โดยมีจำนวนที่ยังไม่ไถ่ถอน 668,682,000 บาท มีจำนวนเงินดอกเบี้ยที่ผิดนัด 12,503,437.26 บาท
หุ้นกู้รุ่น ACAP207A ออกเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2560 ครบกำหนดวันที่ 6 ตุลาคม 2563 มีจำนวนที่เสนอขาย 716,100,000 บาท โดยมีจำนวนที่ยังไม่ไถ่ถอน 716,100,000 บาท มีจำนวนเงินดอกเบี้ยที่ผิดนัด 11,604,744.11 บาท
ทั้งนี้ “ผู้สื่อข่าว” ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ข้อมูลล่าสุดจากงบการเงินปี 2562 บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้น 1.17 พันล้านบาท ขณะที่สิ้นเดือน ตุลาคม 2563 หุ้นกู้ทั้ง 2 ชุดจะครบกำหนดมูลค่ารวม 1.48 พันล้านบาท จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า ACAP จะมีแผนการชำระหนี้ก้อนใหญ่ในครั้งนี้อย่างไร และจะสามารถนำเงินมาชำระได้หรือไม่ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะมีการเข้ามาตรวจสอบและมีมาตรการอย่างไร