“กกร.” ชี้ วิกฤต “โควิด” กระทบ 8 ธุรกิจ ส่อตกงาน 7.13 ล้านคน
"คณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน" (กกร.) ชี้ วิกฤต "โควิด-19" กระทบ 8 ธุรกิจ ภายในเดือน มิ.ย. ส่อตกงาน 7.13 ล้านคน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกกร. วานนี้ (8 เม.ย.63) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ได้ประเมินผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อการจ้างงานที่ชัดเจนมากขึ้น
ทั้งนี้ เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 มีความรุนแรงมากกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ผู้ได้รับผลประทบจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ถึงกลาง และธุรกิจการเงินที่กู้เงินจากต่างประเทศ และเมื่อค่าเงินบาทลอยตัวทำให้ธุรกิจเหล่านี้ต้องปิดกิจการ
แต่สำหรับวิกฤติโควิด-19 ผู้ที่ได้รับผลกระทบ กระจายไปทุกกลุ่ม ตั้งแต่ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กและรายย่อย ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่บางส่วน ทำให้มีผู้ตกงานและได้รับผลกระทบจำนวนมากกว่า โดยเฉพาะธุรกิจที่ใช้แรงงานมากและธุรกิจฐานราก เช่น ธุรกิจบริการทุกขนาดและธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบรุนแรง ซึ่ง กกร.ประเมินว่าสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจหลักล้านล้านบาท
ทั้งนี้ กกร.ประเมินว่าภายในเดือน มิ.ย.นี้ จะมีแรงงานตกงาน 7.13 ล้านคน จากแรงงานในระบบประกันสังคมประมาณ 38 ล้านคน คิดเป็น 18.5% ของแรงงานทั้งหมด แบ่งเป็น
1.ธุรกิจบันเทิง คาดว่าจะเลิกจ้าง 6 หมื่นคน
2.ร้านอาหาร 2.5 แสนคน
3.สปาและร้านนวดในระบบ 3.96 หมื่นคน สปาและร้านนวดนอกระบบ 2 แสนคน
4.ธุรกิจโรงแรม 9.78 แสนคน
5.ศูนย์การค้าและค้าปลีก 4.2 ล้านคน
6.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 7.76 หมื่นคน
7.สิ่งทอ 2 แสนคน
8.ธุรกิจก่อสร้าง 1 ล้านคน
โดยแรงงานที่อาจตกงาน 7.13 ล้านคนนี้ จะเป็นแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือน 6.773 ล้านคน คิดเป็น 95% ของแรงงานที่ตกงาน
“ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงเป็นเอสเอ็มอี หากการระบาดยืดยาวเกินเดือน มิ.ย.นี้ จะลุกลามไปกระทบธุรกิจใหญ่ เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงธุรกิจส่งออกขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้ตัวเลขการตกงานสูงขึ้นกว่าที่คาด” นายสุพันธุ์ ประธาน ส.อ.ท.กล่าว