PTT กำชับทุกหน่วยทำแผนรับมือโควิดใน 1 เดือน ยันไม่ลดเงินเดือนพนง.
PTT กำชับทุกหน่วยทำแผนรับมือโควิด ยืนยันไม่ลดเงินเดือนพนง.-คงแผนลงทุนระยะยาว
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ขณะนี้ ปตท.ได้มอบหมายให้บริษัทในกลุ่มทุกแห่งจัดทำแผนเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง และทำให้การใช้น้ำมันดิบตลาดโลกลดลง 25-30 ล้านบาร์เรล/วัน โดยให้บริษัทในเครือเสนอแผนกลับมาภายใน 1 เดือน ซึ่งเร็วขึ้นจากเดิมที่จะมีการทบทวนแผนในช่วงกลางปี
ขณะที่เบื้องต้นได้ให้ตัดงบค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น แต่ไม่มีการลดเงินเดือนหรือลดพนักงาน ส่วนงบลงทุนระยะยาวยังเป็นไปตามแผนงานเดิม เช่น โครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project) ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP โครงการ Ultra Clean Fuel Project (UCF) รองรับการผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 ของ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC และโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานที่มาบตาพุด (Map Ta Phut Retrofit) ของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เป็นต้น
นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท.ยังได้ปรับสัดส่วนการกลั่นน้ำมัน หลังจากที่น้ำมันอากาศยาน (JET) มียอดการใช้ลดลงจากสถานการณ์การบินเชิงพาณิชย์ที่หยุดลงทั่วโลก แต่ก็ยังมีการบินเชิงความมั่นคงและมนุษยธรรมอยู่ โดยหันมาเพิ่มสัดส่วนการผลิตน้ำมันในกลุ่มดีเซลทดแทน เนื่องจากยังมีการใช้น้ำมันในภาคการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค แม้จะมีการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ก็ตาม จึงทำให้ยอดขายน้ำมันดีเซลไม่ได้ถูกกระทบมากนัก ขณะที่กลุ่มเบนซินมียอดใช้ลดลงบ้าง โดยปัจจุบันโรงกลั่นของกลุ่มปตท.มีกำลังกลั่น ดีเซลประมาณ 35-40% กลุ่มเบนซิน 15-20% และน้ำมันอากาศยาน 12-15%
สำหรับการใช้น้ำมันที่ลดลงทั่วโลกขณะนี้มาจากปัจจัยจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสงครามราคาน้ำมัน ซึ่งกดดันให้ราคาน้ำมันปรับตัวลงมาอยู่ในระดับต่ำมาก 20-30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งนับเป็นระดับราคาที่ผู้ผลิตหลายรายไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ เพราะต้นทุนสูงกว่าราคาจำหน่าย จึงทำให้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร ซึ่งรวมถึงรัสเซีย (โอเปกพลัส) และสหรัฐหันหน้ามาเจรจากัน โดยวันนี้โอเปกพลัสก็จะหารือกันเพื่อลดกำลังการผลิตน้ำมัน
ทั้งนี้ ธุรกิจในกลุ่มปตท.ได้รับผลกระทบหนักในช่วงไตรมาส 1/63 แต่คาดว่าสถานการณ์โควิด-19 น่าจะดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 2/63 จากวิทยาการทางการแพทย์ที่ดีขึ้น หลังจากนั้นเชื่อว่าเศรษฐกิจในเอเชียจะเป็นผู้พยุงเศรษฐกิจโลก ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้จากจีนเริ่มกลับมาเปิดเมืองเดินหน้าผลิตสินค้า เริ่มสต็อกน้ำมัน ทำให้ราคาปิโตรเคมีเริ่มขยับขึ้น รัฐบาลทั่วโลก รวมทั้งไทย อัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดว่าใน 3-6 เดือนข้างหน้าราคาน้ำมันดิบจะอยู่ในระดับ 35-45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากขณะนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบลดลงมาอยู่ที่ 24 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยต้องจับตาดูการประชุมโอเปกพลัสในวันนี้ว่าจะมีข้อตกลงประกาศปรับลดกำลังผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมันปริมาณเท่าใดด้วย
โดยการที่รัฐบาลไทยดำเนินหลากหลายมาตรการในการดูแลผลกระทบจากโควิด-19 นั้นเป็นเรื่องที่ดี และจะเห็นได้ว่าเอกชนและรัฐวิสาหกิจก็ร่วมกันเข้ามาช่วยในด้านต่าง ๆ ทั้งการร่วมผลิตพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยบริษัทในกลุ่ม ปตท.ก็เข้าร่วมในหลายมิติทั้งพัฒนาเครื่องมือแพทย์ ร่วมบริจาคแอลกอฮอล์เจล และอื่นๆ ซึ่งล่าสุด ปตท.ก็ได้ร่วมมือกับกระทรวงพลังงานในการจัดหาแอลกฮอล์เพิ่มเติม ส่งไปให้ระดับหมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการกระจายอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นการโครงการใหม่เพิ่มเติมจากเดิมที่ ปตท.ตั้งเป้าจัดหาแอลกอฮอล์กว่า 160,000 ลิตร เพื่อช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ
ส่วนการจัดตั้งบริษัท PTT International Trading USA Inc. (PTTT USA) ในสหรัฐ โดย ปตท.ถือหุ้นทั้งหมดด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 5,000 เหรียญสหรัฐ นั้น เพื่อเป็นสำนักงานตัวแทนในสหรัฐ ใช้ในการติดต่อการค้า เนื่องจากปัจจุบันสหรัฐนับเป็นผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รายใหญ่ ของโลก ขณะที่ประเทศไทยมีความต้องการใช้ LNG นำเข้าเพิ่มขึ้น และนำเข้าน้ำมันถึง 80% ดังนั้น การมีสำนักงานตัวแทนก็จะช่วยให้สามารถติดต่อการค้าได้ทันท่วงที เสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ และขยายเครือข่ายการค้าให้ครอบคลุมทั่วโลก ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งการสร้างรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่ม และ สนับสนุนการทำธุรกรรมของกลุ่ม ปตท. และบริษัทในเครือ
อนึ่งปัจจุบัน ปตท.มี การจัดตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ ในสิงคโปร์, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ,อังกฤษ และมีสำนักงานตัวแทน ณ.เมืองเซียงไฮ้ ประเทศจีน และ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย