“ตู่” ย้ำยังไม่ขยายเวลาเคอร์ฟิว-กำชับ คัดกรองเข้ม คนเดินทางเข้าปท. สกัด “โควิด-19”
"พล.อ.ประยุทธ์ จันท์โอชา" นายกรัฐมนตรี ย้ำยังไม่ขยายเวลาเคอร์ฟิว-กำชับ คัดกรองเข้ม คนเดินทางเข้าปท. สกัด "โควิด-19"
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ผ่านระบบ Video Conference เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (9 เม.ย.63)
โดยมีเพียงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง อาทิ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วม
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขอให้หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการแต่ละด้านประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงนำนโยบายไปช่วยปฏิบัติ โดยย้ำว่า ไม่ได้ลดทอนอำนาจรัฐมนตรี เพียงแต่ต้องการให้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน และขอควบคุมภาพรวมการทำงานอย่างใกล้ชิด โดยการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ประกอบด้วยข้อมูลที่มีจำนวนมาก ขอให้เกิดความกระชับผ่านการบริหารจัดการข้อมูลที่ ศบค. เพื่อการวิเคราะห์ตัดสินใจนำมาใช้ในการประชาสัมพันธ์ได้ทันที
ด้านการประกาศเคอร์ฟิวนั้น ยังเป็นไปตามประกาศเดิม 22.00-04.00 น. ไม่มีการขยายเวลาเพิ่ม และมีข้อยกเว้นตาม พ.ร.ก. กำหนด ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานเพื่อแจ้งให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องทราบ ขอดำเนินการตามมาตรการที่ได้ประกาศไปก่อน
สำหรับประเด็นหน้ากากอนามัย หน้ากากอนามัยแบบปกติ มีกำลังการผลิตได้เพิ่มเป็น 2 ล้านชิ้นต่อวันแล้ว ซึ่งเชื่อว่า พอจะลดปัญหาขาดแคลนได้บ้าง ส่วนหน้ากาก N95 และชุด PPE ยังมีปัญหาต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ โดยรัฐบาลจะเร่งดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ดี การผลิต N95 มีมาตรฐานการผลิตที่อาศัยหลายปัจจัย และต้องผลิตให้ได้มาตรฐาน
ด้านมาตรการทางเศรษฐกิจ ขอบคุณทุกหน่วยงานที่ทำงานอย่างหนัก และทำให้เกิดผลในการช่วยเหลือประชาชน พร้อมย้ำว่าในส่วนของประชาชน การดำเนินการต้องผ่านมาตรการที่ถูกต้องตามระเบียบ หากไม่ถูกต้องจะต้องส่งเงินคืน และมีมาตรการลงโทษตามกฎหมาย และหากกฎหมายตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่เพียงพอที่จะใช้ลงโทษ ต้องปรับเพิ่ม
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังขอให้ศึกษาวงเงินที่ใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากทั่วโลก และให้พิจารณาตั้งคณะทำงานอย่างละเอียดรอบคอบ
ด้านการแพทย์ นายกรัฐมนตรี สั่งการให้สาธารณสุขพิจารณาดูมาตรการต่างๆ การดูแล ติดตามเพื่อตรวจสอบ รวมทั้งสาเหตุที่มีการติดเชื้อ ตามที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด และจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งในประเทศ และต่างประเทศ แหล่งที่มาของเชื้อต่างๆ โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งการให้ตรวจสอบการคัดกรอง และรักษาในโรงพยาบาลทั้งเอกชน และโดยเฉพาะในภาคใต้ยังมีตัวเลขการแพร่ระบาด
ทั้งนี้ จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขที่ระบุว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิต 1.26% อิตาลี 12.63% อังกฤษ 11.03% พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถือว่าประเทศไทยดำเนินการได้ดี จึงได้สั่งการขอให้มีการควบคุมการดำเนินการให้ดียิ่งขึ้น ให้จำนวนลดลงได้
ในส่วนของ การเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยมีความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ ผ่านระบบการกักตัวทั้ง State Quarantine และ Home Quarantine เป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมจัดการ เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจ และให้ความร่วมมือการคัดกรอง โดยการกักกันต้องเข้มงวด ต้องมีความพร้อมทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย
ด้านการจัดการคัดกรองและระบบกักตัวเพื่อเฝ้าระวัง ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานจัดการไม่ให้มีปัญหา โดยผ่านการบริหารแบบบูรณาการที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงให้ทยอยเดินทางกลับ เพื่อรัฐบาลจะได้จัดระบบที่เหมาะสมรองรับ โดยพิจารณาการ State Quarantine สำหรับผู้ที่เดินทางมาทางอากาศ และดำเนินการ Local Quarantine ให้กับกลุ่มคนที่เดินทางผ่านด่านชายแดนทางบก
ทั้งนี้ ให้พิจารณาแบ่งการเดินทางเข้าประเทศไทยเป็น 2 ประเภท คือ คนไทยที่จะเดินทางจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเสี่ยงเพื่อกลับประเทศ และชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มต้องผ่านกระบวนการ State Quarantine ที่เหมาะสม
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการดูแลคนไทยที่พักอาศัยในต่างประเทศ แม้ว่าไม่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศก็ต้องดูแลให้ดี พร้อมทั้งได้สั่งการให้กระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเตรียมการร่วมกันด้านการจัดการ State Quarantine ให้พิจารณาให้ละเอียด เพียงพอ ทั้งอุปกรณ์ บุคลากร ให้พร้อมใช้ และเป็นประโยชน์
โดยในสถานที่บางแห่งซึ่งได้ปรับเปลี่ยนใช้เป็นโรงพยาบาลในการรองรับผู้ป่วย ขอให้บันทึกแนวทางการรักษา การเตรียมรับมือสถานการณ์ ในรูปแบบต่างๆไว้ เพื่อเป็นประวัติและเป็นแนวทางหากเกิดโรคระบาดใหม่ สิ่งที่บันทึกจะเป็นเสมือนคู่มือในการดำเนินการ รวมทั้งการใช้จ่ายงบประมาณ หลักเกณฑ์การเบิกจ่าย ข้อยกเว้นตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ. โรคระบาด