สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 9 เม.ย. 2563

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 9 เม.ย. 2563


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (9 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยข่าวดังกล่าวช่วยหนุนหุ้นกลุ่มการเงินดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่หุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคปรับตัวขึ้นเช่นกัน

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 23,719.37 จุด เพิ่มขึ้น 285.80 จุด หรือ +1.22% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,789.82 จุด เพิ่มขึ้น 39.84 จุด หรือ +1.45% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,153.58 จุด เพิ่มขึ้น 62.67 จุด หรือ +0.77%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (9 เม.ย.) โดยบวกขึ้นเป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน ขณะที่บรรยากาศการซื้อขายได้แรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบล่าสุด วงเงิน 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ บรรดานักลงทุนยังมีความหวังว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ใกล้ถึงระดับสูงสุดแล้ว

ดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น 1.57% ปิดที่ 331.80 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,506.85 จุด เพิ่มขึ้น 64.10 จุด หรือ +1.44%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 10,564.74 จุด เพิ่มขึ้น 231.85 จุด หรือ +2.24% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,842.66 จุด เพิ่มขึ้น 164.93 จุด หรือ +2.90%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (9 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบล่าสุดเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีความหวังว่า วิกฤตโควิด-19 อาจจะคลี่คลายลงในไม่ช้านี้

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,842.66 จุด เพิ่มขึ้น 164.93 จุด หรือ +2.90%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 9% เมื่อคืนนี้ (9 เม.ย.) หลังจากสื่อรายงานว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส บรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 10 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งนักลงทุนมองว่าตัวเลขดังกล่าวยังไม่มากพอที่จะกระตุ้นความต้องการใช้น้ำมันให้ฟื้นตัวขึ้นในช่วงเวลาที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. ร่วงลง 2.33 ดอลลาร์ หรือ 9.3% ปิดที่ 22.76 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 1.36 ดอลลาร์ หรือ 4.1% ปิดที่ 31.48 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 7 ปีเมื่อคืนนี้ (9 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากสกุลเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศอัดฉีดเงินกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. พุ่งขึ้น 68.5 ดอลลาร์ หรือ 4.07% ปิดที่ 1,752.8 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2555

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 84.8 เซนต์ หรือ 5.58% ปิดที่ 16.053 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. พุ่งขึ้น 15 ดอลลาร์ หรือ 2.04% ปิดที่ 748.6 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 14.80 ดอลลาร์ หรือ 0.7% ปิดที่ 2,110 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (9 เม.ย.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศอัดฉีดเงินกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากรายงานที่ว่า ตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานของสหรัฐพุ่งเกินคาดในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.48 เยน จากระดับ 108.81 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9668 ฟรังก์ จากระดับ 0.9712 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.4020 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.4039 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0923 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0861 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2445 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2392 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6318 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6235 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button