“ตู่” จ่อถก “ผู้นำอาเซียน +3” ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ วาระพิเศษ รับมือ “โควิด-19”
"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี จ่อถก "ผู้นำอาเซียน +3" ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ วันพรุ่งนี้ (14 เม.ย.63) ในวาระพิเศษ รับมือ "โควิด-19"
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้ (14 เม.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มีกำหนดการเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน และผู้นำอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) สมัยพิเศษว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ณ ทำเนียบรัฐบาล ผ่านระบบการประชุมทางไกล
ทั้งนี้ เป็นประจำทุกปีที่ผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศจะร่วมประชุมกันปีละ 2 ครั้ง แต่เนื่องด้วยขณะนี้มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่ส่งผลกระทบทั่วโลก จนองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้เป็นการระบาดใหญ่ ทุกประเทศในอาเซียนได้รับผลกระทบจากการระบาดนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันในภูมิภาคเพิ่มขึ้น และมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมที่เมื่อรวมกันในภูมิภาคอาเซียนแล้วมีจำนวนถึงกว่าหนึ่งหมื่นคน
ผู้นำอาเซียนจึงเห็นพ้องให้จัดการประชุมทางไกลแทน โดยในช่วงเช้าจะเป็นการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และช่วงบ่ายจะเป็นการประชุมร่วมระหว่างผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาบวกสาม
นางนฤมล กล่าว่า การประชุมอาเซียนบวกสามดังกล่าว เกิดจากข้อเสนอของจีนในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ณ เวียงจันทน์ ที่จะให้มีการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศของไทย ได้ให้ความเห็นว่าอาจพิจารณาจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) เนื่องจากเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด และจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกอาเซียนในการแสวงหาความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสาม
โดยในเวทีนี้ ผู้นำอาเซียนจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ มาตรการรับมือด้านสาธารณสุข ตลอดจนหาแนวทางร่วมกันในการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพและรอบด้าน ทั้งในภูมิภาคและกับภาคีภายนอก ซึ่งแต่ละประเทศในอาเซียนได้มีการเฝ้าระวัง ยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด โดยการเพิ่มมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล Social Distancing หรือ Physical Distancing
สำหรับประเทศไทยได้จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการศูนย์ ดำเนินการกำหนดมาตรการต่างๆ ให้ความช่วยเหลือและดูแลทุกด้าน อาทิ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านป้องกันและช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งการรักษาความมั่นคง ด้านการควบคุมสินค้า ด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ด้านการต่างประเทศ และด้านการสื่อสารในสภาวะวิกฤต พร้อมทั้งได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และออกประกาศห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานเพื่อชะลอ และยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค
ทั้งนี้ ผลจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน จะมีการรับรองปฏิญญาร่วม 2 ฉบับ ซึ่งจะยืนยันถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจา (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ในการป้องกันและกำจัดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดที่คุกคามชีวิตของผู้คน และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิก