เช็กด่วน! “กรมอุตุฯ” เตือน 19 จว. “เหนือ-ตอ.-กลาง” รับมือฝนคะนอง-ลมกระโชกแรง
“กรมอุตุฯ” เตือน 19 จว. “เหนือ-ตอ.-กลาง” รับมือฝนคะนอง-ลมกระโชกแรง
กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศ “พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 14 เมษายน 2563)” ฉบับที่ 9 ลงวันที่ 14 เมษายน 2563 ระบุว่า บริเวณภาคเหนือ และภาคกลาง ยังคงมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดกับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ในภาคเหนือ
โดยขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย โดยจะมีผลกระทบต่อไปอีก 1 วัน
สำหรับจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมีดังนี้
ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย และตาก
ภาคตะวันออก: จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคกลาง: จังหวัดอุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และราชบุรี
ทั้งนี้ เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ทำให้เกิดการปะทะกันของมวลอากาศเย็นและอากาศร้อน ส่งผลทำให้มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น
ด้านนายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อิทธิพลบริเวณความกดอากาศสูงจากสาธารณรัฐประชาชนจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้เข้าปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และทำให้ในช่วงวันที่ 12 เมษายน 2563 – ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง 9 จังหวัด
ได้แก่ เชียงราย พิษณุโลก เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู ขอนแก่น นครราชสีมา ชลบุรี และจันทบุรี รวม 35 อำเภอ 65 ตำบล 118 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 826 หลังคาเรือน ยุ้งข้าว/โรงเรือน/คอกสัตว์ เสียหาย 20 ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น โดยแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค กระเบื้องมุงหลังคา และวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านเรือนแก่ผู้ประสบภัย รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ทั้งการชดเชยความเสียหายของบ้านเรือนเป็นวัสดุก่อสร้าง หรือจ่ายเงินช่วยเหลือตามความเหมาะสม