S&P หั่นเรตติ้งไทยจาก “Positive” เหลือ “Stable” มอง “โควิด” กระทบศก.
S&P หั่นเรตติ้งไทยจาก "Positive" เหลือ "Stable" มอง “โควิด” กระทบศก.-การเมือง
บริษัท เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้ง (S&P Global Ratings) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ได้รายงานการทบทวนและปรับลดเรตติ้งของประเทศไทยลงจาก “Positive” เป็น “Stable” สืบเนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองซึ่งเกิดจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
นอกจากนี้ S&P ยังคงระดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินตราต่างประเทศ ที่ระดับ BBB+/A-2 และระดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินบาท ที่ระดับ A-/A-2 รวมทั้งยังคงระดับการประเมินความเสี่ยงการแปลงสกุลเงินไว้ที่ระดับ A ตามเดิม
ทั้งนี้ S&P ระบุว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และการประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใม่ อาจทำให้การเปลี่ยนผ่านของประเทศสู่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งต้องชะลอลงในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
สำหรับตัวเลขจีดีพีของไทยที่คาดว่าจะหดตัวลง 2.5% ในปี 2563 นั้น S&P วิเคราะห์ว่ามีผลจากการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวและการค้าระหว่างประเทศเป็นปัจจัยหลัก เนื่องจากมีการประกาศห้ามเดินทางของหลายประเทศทั่วโลก โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะดีดตัวกลับมาในปี 2564 ด้วยการเติบโต 7.6% บนสมมติฐานว่าสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้สำเร็จ
ขณะที่มาตรการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจะส่งผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องจัดทำงบประมาณแบบ ขาดดุลที่ระดับ 5.5% ของจีดีพี ซึ่งส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะพุ่งขึ้นสู่ที่ระดับ 31% ต่อจีดีพีในปี 63