KBANK มองเงินบาทอ่อน-เงินทุนไหลออกหลัง “S&P” หั่นเครดิตไทย

KBANK มองเงินบาทอ่อน-เงินทุนไหลออกหลัง "S&P" หั่นเครดิตไทย-คาดศก.ถดถอย


ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ระบุว่า สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P) ปรับแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit rating outlook) ของพันธบัตรรัฐบาลไทยลงมาเป็น “คงที่” จาก “บวก” หลังจากที่ปรับขึ้นมาเป็นบวกในวันที่ 13 ธันวาคม โดยในเวลานั้น S&P ประเมินว่าการเมืองไทยมีเสถียรภาพมากขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง โดยคงอันดับความน่าเชื่อถือที่ BBB+

สำหรับสาเหตุที่ปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือ ได้แก่

  1. ผลกระทบของการระบาดของไวรัสโคโรนาที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย S&P คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 63 โดยประเมินว่าเศรษฐกิจจะหดตัว 2.5% ก่อนที่จะกลับมาขยายตัว7.6% ในปี 64 หากสามารถควบคุมการระบาดของไวรัสได้สำเร็จ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาอุปสงค์จากต่างประเทศสูง ทั้งการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเมือง โดยชี้ว่า อาจปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงได้หากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจล่าช้ายาวนาน และเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการ
  2. ความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการประกาศใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เนื่องจากการโอนอำนาจรัฐมนตรีทั้งหมดและหน้าที่การออกข้อกำหนดมาเป็นของนายกรัฐมนตรี จะเป็นการชะลอกระบวนการปกครองประเทศโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระยะ 12 เดือนข้างหน้า โดยยังต้องรอประเมินการดำเนินงานของรัฐบาลให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและการแก้ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง

ทั้งนี้ S&P ประเมินว่าเสถียรภาพการเงินต่างประเทศของไทยยังแข็งแกร่งจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล ทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูง หนี้สาธารณะที่ต่ำ และการดำเนินนโยบายการคลังและการเงินที่เป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติ แต่ประเมินว่ามาตรการเยียวของภาครัฐจะส่งผลให้หนี้ ภาครัฐบาลเพิ่มขึ้น

โดย KBANK คาดการณ์ผลกระทบจากการปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยอาจทำให้นักลงทุนประเมินว่าการลงทุนในไทยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทำให้ไทยเสี่ยงเผชิญเงินทุนไหลออก ส่งผลต่อเนื่องให้เงินบาทอ่อนค่าและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะยังน้อยกว่าเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกและไทยมีเสถียรภาพภาคต่างประเทศที่แข็งแกร่งกว่าประเทศอื่นๆ

 

 

 

Back to top button