“ศักดิ์สยาม” ดัน กม.เรียกแท็กซี่-จยย.ผ่านแอปฯ เข้าสภาฯ พ.ค.นี้ ก่อนบังคับใช้ปลายปี 63

"นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ" รมว.คมนาคม ดันกฎหมายรองรับแอปพลิเคชัน เรียรถแท็กซี่-มอเตอร์ไซต์รับจ้าง เข้าสภาฯ พ.ค.นี้ ก่อนบังคับใช้ปลายปี 63


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการให้บริการรถรับจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันว่า กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้รายงานว่า ขณะนี้ ได้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพ.ร.บ.รถยนต์ ซึ่งครอบคลุมทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รับจ้าง ให้ใช้แอปพลิเคชันสำหรับเรียกใช้บริการ รถรับจ้างสาธารณะได้

โดยในวันที่ 20 เม.ย.นี้ กรมการขนส่งทางบกจะเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ดังกล่าวมายังกระทรวงคมนาคมเพื่อลงนามและเสนอต่อกฤษฎีกา เข้าสู่ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

หลังผ่านการพิจารณาของกฤษฎีกา จะส่งกลับมาที่กระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเห็นชอบ จากนั้นจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏร ซึ่งจะมีการเปิดประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 1 ประจำปี 2563 ได้ในเดือน พ.ค. นี้ โดยหลังจากผ่านการพิจารณาของสภาฯแล้ว นายกรัฐมนตรี จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ใช้บังคับต่อไปราวปลายปี 63

นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบก ยังได้ดำเนินการยกระดับมาตรฐานการออกใบอนุญาตขับรถยนต์ ซึ่งใช้ต้นแบบจากประเทศที่มีมาตรฐานในการออกใบอนุญาตขับรถยนต์ ที่นำไปสู่การใช้รถใช้ถนนที่มีความปลอดภัย เช่น เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ โดยมี 7 มิติ ได้แก่

1.การกำหนดสภาวะโรค โดยกำหนดโรคต้องห้ามและการออกใบรับรองแพทย์ ร่วมกับแพทยสภาที่เป็นมาตรฐาน

2.การทดสอบสมรรภาพทางร่างกาย โดยบูรณาการร่วมกับร่วมกับหน่วยงานทางเวชศาสตร์จราจร เพื่อกำหนดรูปแบบในการประเมิน

3.การอบรมและทดสอบความรู้ภาคทฤษฎี ของผู้ขอรับใบอนุญาต โดยปรับปรุงเนื้อหาใหม่ และมีระบบ E-Learning วิชาพื้นฐานให้ศึกษาข้อมูลก่อนสอบ และกำหนดให้ต้องผ่านหลักสูตร อบรมการปฐมพยาบาลและการปฎิบัติเมื่อเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงเนื้อหาการสอบภาคทฤษฎี เป็นแบบวิเคราะห์ต่อสถานการณ์

4.การอบรมขับรถและทดสอบความสามารถของผู้ขอรับใบอนุญาต ภาคปฏิบัติ ซึ่งจะมีคู่มือฝึกหัดขับรถจาก E-Learning ให้ศึกษาก่อน จากนั้นจะทดสอบและนำไปสู่การออกถนนจริง โดยมีครู นั่งทดสอบไปด้วย ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยมีเกณฑ์ให้คะแนน จึงจะผ่าน ซึ่งเป็นรูปแบบเหมือนหลายๆ ประเทศ

5.การบริหารจัดการ จะมีการปรับปรุงบทบาทจากผู้ควบคุมกำกับดูแล และกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสอบ ออกใบอนุญาต เป็นจัดตั้งศูนย์ทดสอบสำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตเพื่อให้เกิดความสะดวกมากขึ้น โดยจะกำหนดคุณสมบัติ สำหรับการจัดตั้งศูนย์ทดสอบฯ ดังกล่าว

6.ปรับปรุงรูปแบบใบอนุญาตขับรถ ซึ่งปัจจุบันยังไม่เป็นสากล และเพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยการจราจรทางบก ค.ศ. 1968 ซึ่งครม.มีมติให้กระทรวงคมนาคม และกรมการขนส่งทางบก ลงสัตยาบัน ซึ่งจะทำให้สามารถนำใบอนุญาตขับรถของไทย ใช้ในประเทศที่เป็นสมาชิก อนุสัญาเวียนนาฯ ได้ คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในปี 2564

7.การควบคุมพฤติกรรมการขับรถด้วยมาตรการตัดแต้ม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ซึ่งกรมการขนส่งทางบก ได้ประชุมร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อบูรณาการการใช้ กม.จราจรและกม.ขนส่งฯร่วมกัน ในการกำหนดฐานความผิด ในการตัดคะแนน และการพักใช้ใบอนุญาต ที่จะเข้มข้นมากขึ้น

          “เมื่อทั้ง 7 มิติบังคับใช้ครบ ต่อไป กรณีทำผิดกฎจราจร จะถูกตัดแต้ม จนถึงเกณฑ์ จะถูกยึดใบอนุญาต หากจะใหม่จะต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1 ใหม่ ” นายศักดิ์สยาม กล่าว

สำหรับการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กองทุนความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนน (กปถ.) นั้น ขณะนี้ กรมการขนส่งทางบก ได้ดำเนินการกำหนดทะเบียนรถในรูปแบบพิเศษ เพื่อให้เป็นป้ายทะเบียนเฉพาะ สำหรับรถและเจ้าของรถที่ต้องการ โดยเบื้องต้นได้กำหนดขนาดแผ่นป้าย ขนาดตัวอักษร การจัดวางตัวอักษร ตัวเลข และข้อความ ต้องไม่ก่อให้เกิดการตีความ ที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสีย หรือมีความหมายกระทบ หรือทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคม

โดยจะเปิดให้จดทะเบียน โดยวิธีการประมูล โดยกำหนดอัตราขั้นต่ำไว้ที่ 1 ล้านบาทต่อป้ายทะเบียนซึ่งจะรองรับสำหรับบุคคล หรือนิติบุคคล ที่ต้องการป้ายทะเบียนรถแบบพิเศษเป็นการเฉพาะทั้งนี้ ในการขอใช้ทะเบียนรถยนต์ปกติ ยังสามารถดำเนินการได้ตามเดิม ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะเสนอไปยังครม.ในสัปดาห์หน้า เพื่อออกกฎกระทรวงต่อไป ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะช่วยเพิ่มรายได้ กองทุน กปถ. ซึ่งจะทำให้มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งและนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนได้เพิ่มขึ้น

ส่วนการประมูลเลขทะเบียนสวยในปัจจุบัน เพื่อนำรายได้เข้ากปถ.ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้น ได้กำหนดหลักเกณฑ์ เพิ่มเติม ได้แก่ ผู้เข้าประมูลต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ,ไม่เป็นผู้ถูกตัดสิทธิ์ประมูลมาก่อน ,ต้องไม่เป็นตัวแทนหรือนอมินี โดยต้องวางเงินค้ำประกันก่อนในอัตรา 10%ของมูลค่าประมูล เช่น เลข 4 ตัวเหมือนกัน ต้องวางเงินค้ำประกัน 50,000 บาท กรณีที่ประมูลไปได้ในวงเงิน 1 ล้านบาท จะต้องเพิ่มเงินค้ำประกันเป็น 100,000 บาท เท่ากับ ผู้ประมูลได้ต้องวางเงินเพิ่มอีก 50,000 บาททันทีในวันประมูล และชำระให้ครบมูลค่าประมูลภายใน 30 วัน หากเลยกำหนด จะยึดเงินค้ำประกัน และนำเลขดังกล่าวกลับไปประมูลใหม่ และตัดสิทธิ์ผู้เข้าร่วมประมูลดังกล่าว ไม่สามารถร่วมประมูลได้อีก

“เป็นการดำเนินการตามกลไกตลาด ไม่สามารถสร้างราคาเทียมหรือประมูลเพื่อปิดกั้นผู้อื่นที่ต้องการเลขดังกล่าว ให้เข้าถึงการประมูลและได้เลขหมายที่ต้องการรวมถึงสร้างความเข้มแข็งการเงินของกองทุนได้” นายศักดิ์สยาม กล่าว

Back to top button