สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 16 เม.ย. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 16 เม.ย. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (16 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งนำโดยหุ้นอเมซอนดอทคอม และหุ้นเน็ตฟลิกซ์ นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากการที่นักลงทุนมีความหวังว่า รัฐบาลสหรัฐจะประกาศเปิดเศรษฐกิจในไม่ช้านี้ อย่างไรก็ดี ภาวะการซื้อขายเป็นไปอย่างผันผวน เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 23,537.68 จุด เพิ่มขึ้น 33.33 จุด หรือ +0.14% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,799.55 จุด เพิ่มขึ้น 16.19 จุด หรือ +0.58% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,532.36 จุด เพิ่มขึ้น 139.19 จุด หรือ +1.66%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (16 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับรายงานที่ว่า ยอดผู้เสียชีวิตรายวันจากโรคโควิด-19 ในสเปนและอิตาลีลดลง ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กำลังชะลอตัวลง
ดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น 0.58% ปิดที่ 324.92 จุด
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 10,301.54 จุด เพิ่มขึ้น 21.78 จุด หรือ +0.21% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,628.43 จุด เพิ่มขึ้น 30.78 จุด หรือ +0.55% ขณะที่ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,350.16 จุด ลดลง 3.56 จุด หรือ -0.08%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (16 เม.ย.) โดยหุ้นกลุ่มส่งออกได้แรงหนุนจากเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลง หลังจากอังกฤษประกาศขยายเวลาบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ต่อไปเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,628.43 จุด เพิ่มขึ้น 30.78 จุด หรือ +0.55%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดทรงตัวเมื่อคืนนี้ (16 เม.ย.) ท่ามกลางภาวะการซื้อขายที่ผันผวน เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลก
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค.ปิดทรงตัวที่ 19.87 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. 2545
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 13 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 27.82 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 2 เมื่อคืนนี้ (16 เม.ย.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยกดดันตลาด โดยดัชนีดอลลาร์พุ่งขึ้นทะลุระดับ 100 เนื่องจากนักลงทุนพากันเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย และมีสภาพคล่องมากที่สุด หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานพุ่งขึ้นกว่า 5 ล้านราย
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 8.5 ดอลลาร์ หรือ 0.49% ปิดที่ 1731.7 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 11.7 เซนต์ หรือ 0.75% ปิดที่ 15.622 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 11.3 ดอลลาร์ หรือ 1.4% ปิดที่ 793.3 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 32.90 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ 2,120.70 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (16 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนพากันเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย และมีสภาพคล่องมากที่สุด หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานพุ่งขึ้นกว่า 5 ล้านราย
ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.63 เยน จากระดับ 107.45 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9689 ฟรังก์ จากระดับ 0.9636 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.4111 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.4083 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0845 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0921 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.2459 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2550 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.6311 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6329 ดอลลาร์สหรัฐ