ก.ล.ต.ผนึก “สภาวิชาชีพบัญชีฯ-กกบ.” ออกแนวปฏิบัติทางบัญชี ลดภาระ บจ.ช่วง “โควิด-19”
ก.ล.ต.ผนึก “สภาวิชาชีพบัญชีฯ-กกบ.” ออกแนวปฏิบัติทางบัญชี ลดภาระ บจ.ช่วง “โควิด-19”
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563 คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) ได้มีการประชุมและอนุมัติแนวปฏิบัติทางการบัญชีซึ่งเป็นมาตรการผ่อนปรนชั่วคราว จำนวน 2 ฉบับ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ตามที่ ก.ล.ต. ได้หารือร่วมกับสภาวิชาชีพ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไว้ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2563 โดยสภาวิชาชีพบัญชีฯ จะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไป
สืบเนื่องจากสำนักงาน ก.ล.ต.ได้หารือกับสภาวิชาชีพบัญชีฯ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 และได้มีหนังสือถึงสภาวิชาชีพบัญชีฯ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 เพื่อเสนอให้กำหนดแนวปฏิบัติทางการบัญชีรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการจัดทำงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบันทึกบัญชีของบริษัทจดทะเบียนและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ
กกบ. ได้อนุมัติแนวปฏิบัติทางการบัญชี จำนวน 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563 ประกอบด้วย (1) มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับกิจการที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และ (2) มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งผ่อนปรนชั่วคราวทางบัญชีให้ทุกกิจการในเรื่องต่าง ๆ เช่น การคำนวณหนี้สงสัยจะสูญ การวัดมูลค่ายุติธรรม การเปลี่ยนแปลงสัญญาเช่า และการประเมินข้อบ่งชี้การด้อยค่า เป็นต้น ทั้งนี้ สภาวิชาชีพบัญชีฯ จะออกตัวอย่างในแต่ละเรื่องเพื่อความง่ายต่อความเข้าใจ รวมทั้งจะนำเสนอเรื่องต่าง ๆ ผ่าน Youtube ต่อไป
ด้านนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. เห็นว่า แนวปฏิบัติทางการบัญชีข้างต้นจะช่วยผ่อนปรนและลดข้อจำกัดเกี่ยวกับการจัดทำงบการเงินให้กับบริษัทจดทะเบียนในสถานการณ์นี้ จึงขอขอบคุณสภาวิชาชีพบัญชีฯ และ กกบ. เป็นอย่างสูงในการให้ความอนุเคราะห์และความร่วมมือในครั้งนี้
ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันก่อเกิดความไม่แน่นอนอย่างมาก จึงมีผลกระทบต่อการประมาณการเพื่อการจัดทำงบการเงิน มาตรการนี้จึงเป็นมาตรการชั่วคราวและเป็นทางเลือก เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้ว บริษัทจดทะเบียนจะสามารถจัดทำประมาณการเพื่อให้งบการเงินสะท้อนฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่ชัดเจนขึ้น เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนต่อไป
นอกจากนี้ ก.ล.ต. เล็งเห็นถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีต่อบริษัทจดทะเบียนจึงได้ดำเนินการออกมาตรการในหลาย ๆ ด้าน เช่น การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับแนวทางการจัดประชุมผู้ถือหุ้น การเลื่อนประชุมผู้ถือหุ้น และการมอบฉันทะ รวมทั้งออกประกาศว่าด้วยการผ่อนผันการนำส่งงบการเงินและการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีเพื่อสอบทานงบการเงินรายไตรมาส ตลอดจนการลดค่าธรรมเนียมประจำปี เป็นต้น
ขณะที่สภาวิชาชีพบัญชีฯ แถลงว่า กกบ.อนุมัติ แนวปฏิบัติทางการบัญชี เรื่อง มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีได้จัดทำและผ่านความเห็นชอบตามขั้นตอนของคณะกรรมการกลั่นกรองมาตรฐานการบัญชี และคณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีแล้ว หลังจากผ่านความเห็นชอบของ กกบ. สภาวิชาชีพบัญชีฯ จะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้
ส่วนแนวปฎิบัติ ฉบับที่ 1 เรื่อง ช่วยสถาบันการเงินที่อยู่ในกำกับของ ธปท. กิจการที่ให้สินเชื่อลูกค้าเช่น เช่าซื้อ ลิสซิ่ง บัตรเครดิต รวมทั้งกิจการอื่นๆ ทุกกิจการ ที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามแนวทางที่ ธปท.ออกมาตรการช่วยเหลือสถาบันการเงินเพื่อช่วยให้ลูกหนี้เกิดสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการช่วยเหลือนี้ สภาวิชาชีพบัญชีฯ ได้ผ่อนปรนการคำนวณหนี้สงสัยจะสูญตามหลักการของ TFRS 9 เช่น การย้ายกลุ่มลูกหนี้ปกติเป็นกลุ่มผิดนัดขั้น 2 หรือขั้น 3 / ยกเว้นการคำนวนหนี้สงสัยจะสูญจากวงเงินที่ยังไม่ได้ใช้ (unuse credit line)
โดยระยะเวลาที่ผ่อนปรน คือ ฉบับที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 หรือจนกว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการเปลี่ยนแปลงและให้ถือปฏิบัติตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
แนวปฎิบัติฉบับที่ 2 เรื่อง…ผ่อนปรนให้แก่ทุกกิจการที่ใช้มาตรฐานฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน, มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 13 เรื่อง การวัดมูลค่ายุติธรรม, มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 16 เรื่อง สัญญาเช่า, มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 12 เรื่อง ภาษีเงินได้, มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 36 เรื่อง การด้อยค่าของสินทรัพย์, มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 37 เรื่อง ประมาณการหนี้สินฯ โดยหลักทั่วไปคือยอดยกมา ณ วันที่ 1 มกราคม 2563 ซึ่งรับรู้รายการด้วยมูลค่ายุติธรรมแล้ว ในการประเมินมูลค่ายุติธรรมสำหรับการปิดงบไตรมาส 1, 2, 3 และงบปี 2563 สามารถใช้ยอดมูค่ายุติธรรม ณ วันที่ 1 มกราคม 2563 ได้ และในการคิดมูลค่ายุติธรรม สามารถใช้หลักการตามมาตฐาน TFRS9 วรรค ข5.2.3 ซึ่งเปิดช่องให้พิจารณาราทุน หรือ มูลค่าสุทธิตามบัญชีมาใช้ได้
สำหรับระยะเวลาที่ผ่อนปรน คือระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
รายละเอียดจะประกาศบนเว็บไซต์ของสภาวิชาชีพบัญชีฯ นอกจากนี้จะมีการออกตัวอย่างในแต่ละเรื่อง เพื่อความง่ายต่อความเข้าใจ อีกเรื่องหนึ่งคือ สภาวิชาชีพบัญชีจะนำเสนอในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ผ่านทาง Youtube เพื่อให้สมาชิกสามารถทำความเข้าใจ และนำมานับ CPD แบบไม่เป็นทางการในปี 2563 ได้ด้วย