ราชกิจจาฯ ประกาศ พ.ร.ก. 3 ฉบับ เยียวยา “โควิด-19” วงเงิน 1.9 ล้านลบ.
ราชกิจจาฯ ประกาศ พ.ร.ก. 3 ฉบับ เยียวยาผลกระทบโควิด-19 วงเงินรวม 1.9 ล้านลบ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (19 เม.ย.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ.2563 มีทั้งสิ้น 11 มาตรา
โดยในมาตรา 3 ระบุว่า ให้กระทรวงการคลังโดยอนุมัติ คณะรัฐมนตรีมีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ หรือออกตราสารหนี้ ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย มีมูลค่ารวมกันไม่เกินหนึ่งล้านล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงิน หรือออกตราสารหนี้ภายในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564
โดยมีรายละเอียดตามเอกสารที่แนบมา คลิกดูฉบับเต็ม
อีกทั้งเผยแพร่ พระราชกำหนด การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีทั้งสิ้น 15 มาตรา
โดยในมาตรา 6 ระบุว่า นอกเหนือจากการให้กู้ยืมเงินตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินเป็นการเฉพาะคราว ภายในวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ตามที่กำหนดในพระราชกำหนดนี้ อัตราดอกเบี้ยในการให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินตามวรรคหนึ่ง ให้คิดในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี
โดยมีรายละเอียดตามเอกสารที่แนบมา คลิกดูฉบับเต็ม
รวมถึงประกาศ พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ มีทั้งสิ้น 21 มาตรา
โดยในมาตรา 7 ระบุว่า ให้จัดตั้งกองทุนรวมขึ้นกองทุนหนึ่ง เรียกว่า “กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่อง ของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้” มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพและสภาพคล่อง ของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ด้วยวิธีการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ออกใหม่
มาตรา 8 ให้กองทุนเป็นนิติบุคคล และให้ถือว่าเป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งและดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในระยะเริ่มแรกให้กองทุนมีวงเงินไม่เกินสี่แสนล้านบาท ภายใต้บังคับมาตรา ๑๗ และมาตรา ๑๘ ในระยะเริ่มแรกให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนแต่ผู้เดียว ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจซื้อหน่วยลงทุนภายในวงเงินไม่เกินสี่แสนล้านบาท ภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำกับกองทุนกำหนด การดำเนินกิจการกองทุน การบริหารและการจัดการกองทุนให้ดำเนินการตามกฎหมาย ว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เว้นแต่ที่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นเป็นการเฉพาะในพระราชกำหนดนี้
โดยมีรายละเอียดตามเอกสารที่แนบมา คลิกดูฉบับเต็ม