“WTO” ชี้พิษ “โควิด” ฉุดการค้าโลกหด ต่ำสุด 32% คาดฟื้นตัว ปี 64

"องค์การการค้าโลก" (WTO)​ ชี้พิษ "โควิด" ฉุดการค้าโลกหดต่ำสุด 32% คาดฟื้นตัว ปี 64 ฟาก "กระทรวงพาณิชย์ แนะผู้ประกอบการศึกษาตลาด เตรียมพร้อมขับเคลื่อนศก.


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า องค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ได้จัดทำรายงานการศึกษาการค้าโลก หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คาดว่าปริมาณการค้าโลก ในปี 2563 จะลดลงจากปี 2562 และจะกลับมาฟื้นตัวในปี 2564

โดยนักเศรษฐศาสตร์ของ WTO ได้ตั้งสมมติฐานที่อาจเป็นไปได้ 2 กรณี คือ กรณีแรก ปริมาณการค้าโลกจะลดลง 13% และจะฟื้นตัว 21% และกรณีที่ 2 ปริมาณการค้าโลกจะลดลง 32% หรือมากกว่า และจะกลับมาฟื้นตัว 24%

ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คือ ความรวดเร็วในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และนโยบายหรือมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจที่ประเทศต่างๆ นำมาใช้ นอกจากนี้ หากทุกประเทศร่วมมือกันจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วกว่าการที่แต่ละประเทศดำเนินมาตรการเอง

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ดังกล่าวอาจยังไม่แน่นอน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ เช่น สภาวะตึงเครียดของตลาดสินเชื่อ ที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการให้บริการการเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น

นางอรมน เสริมว่า WTO ยังวิเคราะห์ผลกระทบของวิกฤตไวรัสโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจต่างๆ โดยในส่วนของภาคอุตสาหกรรม พบว่า มาตรการปิดเมืองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสฯ ในหลายประเทศทั่วโลก เช่น จีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ทำให้มีการปิดโรงงานชั่วคราว ส่งผลให้ห่วงโซ่การผลิตหยุดชะงัก ซึ่งกระทบต่ออุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่มูลค่าซับซ้อนโดยตรง อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์

สำหรับภาคการค้าบริการ ส่งผลให้การใช้บริการคมนาคมขนส่ง ท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจค้าปลีกและบริการต่างๆ ลดลง หรือต้องปิดตัวในบางธุรกิจ เนื่องจากประเทศต่างๆ มีมาตรการจำกัดการขนส่งและการเดินทางเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส

ทั้งนี้ ยังมีสาขาบริการที่ได้ประโยชน์จากวิกฤต เช่น การให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ เนื่องจากสามารถใช้บริการในที่พักอาศัยได้ และมีพฤติกรรมการใช้มากขึ้น

“ผู้ประกอบการควรใช้ช่วงเวลานี้ เตรียมความพร้อมขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเต็มกำลังภายหลังวิกฤต โดยต้องวางแผนอย่างรอบคอบ ประเมินความเสี่ยงและทางเลือกใหม่ๆ รวมถึงปรับปรุงรูปแบบการดำเนินธุรกิจด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและบริการ ขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญกับการสร้างและรักษาพันธมิตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) เพื่อเพิ่มแนวร่วมในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ที่จะมีผลต่อพฤติกรรมของตลาดและผู้บริโภคในอนาคต เช่น ความปลอดภัย สุขภาพอนามัย และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น” นางอรมน กล่าว

Back to top button