พรรคร่วมรบ. หวั่นปัญหาเงินเยียวยา วุ่นไม่จบ จี้ “อุตตม” แจงใช้งบ 1.9 ล้านลบ.ให้เคลียร์!
ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล หวั่นปัญหาเงินเยียวยา วุ่นไม่จบ เข้ายื่นหนังสือ เรียกร้องให้ "นายอุตตม สาวนายน" รมว.คลัง แจงรายละเอียดพ.ร.ก.กู้ 1.9 ล้านลบ.ให้เคลียร์!
ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง แจ้งว่า วันนี้ (20 เม.ย.63) เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลนำโดยนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เพื่อขอให้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท
เนื่องจากเป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจ โดยเฉพาะกรณีการกู้เงินเพื่อนำมาจ่ายเยียวยาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จำนวน 5 พันบาท เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งยังมีช่องโหว่อีกมาก โดยมีนายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วย รมต.ประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) เป็นผู้รับหนังสือ
โดยนายเทพไท กล่าวว่า การจ่ายเงินเยียวยา 5 พันบาทขณะนี้มีปัญหามาก และคิดว่าปัญหาจะไม่จบไม่สิ้น ซึ่งไม่เข้าใจว่ารัฐบาลประเมินเรื่องนี้อย่างไร จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้เดือดร้อน 3 ล้านคน แต่ปัจจุบันมีประชาชนลงทะเบียนแล้ว 27.7 ล้านคน และรัฐบาลจะคัดกรองให้เหลือ 9 ล้านคน ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีคนเดือดร้อนผุดขึ้นมาเหมือนดอกเห็ดแน่นอน จะทำให้การเยียวยาไม่จบ จะซ้ำซ้อน ปัญหาจะค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้เคยเสนอแนวทางในการจ่ายเงินเยียวยา โดยจ่ายให้กับบุคคลที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ที่มีบัญชีเงินฝากไม่เกิน 1 แสนบาท ให้ได้รับเงินเยียวยาทั้งหมด และอีกแนวทางคือการจ่ายเงินเยียวยาตามทะเบียนบ้าน ซึ่งปัจจุบันมี 20 กว่าล้านครอบครัว ให้มีการคัดกรองเอาข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือคนมีอันจะกินออกไป 20-30% จะเหลือครัวเรือนที่ควรได้รับเงินช่วยเหลือ 10 ล้านครัวเรือน ในส่วนนี้รวมเกษตรกร 9 ล้านครัวเรือนด้วย
โดยจ่ายเงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 1 หมื่นบาท หากแจก 1 เดือนจะใช้งบ 1 แสนล้านบาท แจก 3 เดือนใช้งบ 3 แสนล้านบาท และแจก 6 เดือนจะใช้งบ 6 แสนล้านบาท ซึ่งจะครอบคลุมงบประมาณพอดี ตรงนี้จะไม่มีปัญหา และไม่มีข้อครหาว่าช่วยเหลือไม่ทั่วถึง รัฐบาลสามารถอธิบายกับสังคมได้ด้วย
“เกรงว่าปัญหาจะไม่จบไม่สิ้น เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ยังมีปัญหาเข้าไม่ถึงระบบออนไลน์ ไม่มีความรู้ การจะลงทะเบียนแต่ละครั้งต้องจ้าง ต้องยอมรับว่ามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นจริง โดยหากรัฐบาลทำตามข้อเสนอ การจ่ายเงินช่วยเหลือจะใช้เวลาไม่เกิน 5-10 วันก็จบ จะไม่มีปัญหา จะไม่มีการโต้เถียง จะไม่มีม็อบมาเกาะกระทรวงการคลัง แต่ตอนนี้ยืดเยื้อมาเป็นเดือนแล้ว” นายเทพไท กล่าว
ด้าน นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ไม่ได้คัดค้าน หรือไม่เห็นด้วยกับการกู้เงินของรัฐบาล เพราะเข้าใจว่าการกู้เงินเป็นเรื่องสำคัญ เข้าใจถึงภารกิจของรัฐบาลและความเดือดร้อนของประชาชน แต่อยากให้ รมว.คลัง ชี้แจงรายละเอียดหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินที่จะจ่ายเยียวยาให้ประชาชนว่าจะจัดสรรให้ใคร คนละเท่าไหร่ และระยะเวลาเท่าไหร่ เพราะที่ผ่านมาการจ่ายเงินเยียวยา 5 พันบาทมีปัญหามาก ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่ชัดเจนของหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังไม่ได้ประกาศให้ประชาชนเข้าใจ
นอกจากนี้ อยากเสนอให้รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนที่อยู่นอกระบบประกันสังคมประมาณ 60 ล้านคน คนละ 1 หมื่นบาท ซึ่งจะใช้งบประมาณ 6 แสนล้านบาท เพื่อให้ทุกคนได้เงินเยียวยาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ซึ่งเป็นการคิดแบบง่ายที่สุด ไม่ต้องสลับซับซ้อน
ขณะที่ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ขอให้ รมว.คลัง ชี้แจงหลักเกณฑ์การเยียวยาแก่ผู้ประกอบการรายย่อย จากการปล่อยกู้ซอฟต์โลน ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในหลักเกณฑ์ และในทางปฏิบัติแต่ละธนาคารพาณิชย์ยังมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน จึงตั้งข้อสังเกตว่าเงินกู้ดังกล่าวอาจเข้าถึงผู้ประกอบการจริง
ส่วนการออก พ.ร.ก.ตั้งกองทุนพยุงตราสารหนี้เอกชนวงเงิน 4 แสนล้านบาทนั้น มีข้อกังวลจะเป็นการช่วยเหลือเฉพาะเอกชนรายใหญ่ และอาจเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนในวงเงินดังกล่าว จึงเรียกร้องให้กระทรวงการคลัง ทำความเข้าใจกับประชาชน
“เชื่อว่าทันทีที่ พ.ร.ก.กู้เงินเข้าสู่การประชุมสภา ฝ่ายค้านจะตั้งคำถามอย่างหนัก แต่ก็เข้าใจว่าการถามหนักคือการทำหน้าที่ ขณะที่ ส.ส. ฝั่งรัฐบาลก็มีความสนใจในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน” นายสิริพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ นายชาญกฤช ผู้ช่วย รมต.ประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) ซึ่งเป็นผู้รับหนังสือ กล่าวว่า จะนำหนังสือไปมอบให้รมว.คลัง รับทราบต่อไป พร้อมกับชี้แจงว่าการกู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของกระทรวงการคลัง 1 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบวงเงิน 6 แสนล้านบาท และปฏิรูประบบเศรษฐกิจอีก 4 แสนล้านบาท
และอีกส่วนจำนวน 9 แสนล้านบาท เป็นการดำเนินงานของ ธปท. ทั้งการปล่อยกู้ซอฟต์โลน วงเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และอีก 4 แสนล้านบาท เพื่อช่วยดูแลเสถียรภาพ ตลาดเงินตลาดทุน โดยยืนยันว่าไม่ใช่มาตรการอุ้มคนรวย เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดตราสารหนี้ในไทยมีจำนวนมาก ถ้าตลาดตราสารหนี้ ซึ่งปัจจุบันมีขนาด 20% ของจีดีพี เกิดความไม่มีเสถียรภาพ จะกระทบเป็นวงกว้าง