“ตู่” นั่งหัวโต๊ะประชุม “ศบค.” พิจารณสถานการณ์ “โควิด” ก่อนหาแนวทางคลายล็อกดาวน์
"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะประชุม "ศบค." พิจารณสถานการณ์ "โควิด" ก่อนหาแนวทางผ่อนคลายล็อกดาวน์บางกิจกรรม
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. วันนี้ (20 เม.ย.63) ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยได้ให้แนวทางการผ่อนคลายมาตรการโดยเฉพาะด้านสาธารณสุข ว่าหากสถานการณ์ดีขึ้นตามหลักเกณฑ์จะมีการผ่อนปรนในส่วนใดได้บ้าง
โดยในภาพรวมให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลัก ผ่านการวิเคราะห์ ศึกษาทางสถิติ พิจารณาว่ากิจกรรมประเภทใดบ้างที่ผ่อนปรนได้ เพื่อให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพบางประเภทได้ ให้ประชาชนมีรายได้
อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องกำหนดข้อจำกัดเพิ่มเติม อาทิ การเปิดตลาด ประเภทใดที่เปิดได้บ้าง ดำเนินการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ และสั่งการให้ทุกหน่วยงานภายใต้การดูแลของหน่วยงานตนเอง หากมีมาตรการผ่อนคลายจะต้องมีมาตรการเพิ่มเติมเช่นไร
ในส่วนของการปลดล็อกจะต้องมีมาตรการดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน ที่ยังกำหนดอยู่ ตลอดจนพิจารณามาตรการตรวจสอบ การคัดกรอง ให้เหมาะสม รวมทั้งการดำเนินการทุกอย่างให้ยังคงเป็นไปตามหลักการการเว้นระยะห่างระหว่างกัน (Social Distancing) เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญในการดำเนินมาตรการที่ชัดเจน จะได้เกิดความไว้วางใจ ร่วมมือกับรัฐบาล ส่วนมาตรการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) ที่ยังต้องใช้ จะปรับอย่างไรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้นำเสนอผลการดำเนินการของแต่ละด้านที่สำคัญ ดังนี้
ด้านมาตรการสาธารณสุข ได้นำเสนอภาพรวมการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกและประเทศไทย ซึ่งของประเทศไทยกำหนดกลุ่มตรวจเฉพาะให้มากขึ้น โดยใช้พัฒนาการตรวจ เช่น ตรวจสายน้ำเกลือ และจากการประเมินสถานการณ์ การเปรียบเทียบกราฟ เห็นว่าแนวโน้มลดลง
ด้านมาตรการลดการแพร่เชื้อภายในประเทศ กระทรวงสาธารณสุขใช้มาตรการค้นหา และลดจำนวนคนแพร่เชื้อในชุมชน ร่วมกับมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อในโรงพยาบาล ลดความหนาแน่น จัดระบบแยกผู้ป่วย และป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ แต่ต้องควบคู่กับมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างเข้มข้น
ในส่วนของปริมาณหน้ากาก N95 และชุด PPE ยังนับว่าเพียงพอสำหรับการใช้ในปัจจุบัน และรองรับได้ในอนาคต ส่วนเตียงผู้ป่วยเมื่อพิจารณาจากสถิติ ที่คาดว่าจำนวนผู้ใช้จะลดลงจึงยังคงมีเพียงพอสำหรับความจำเป็นในการใช้งาน
ในส่วนของความก้าวหน้าด้านการวิจัย
1.การใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรในการต้านการเพิ่มไวรัสในเซลล์ แนะนำให้ใช้เพื่อป้องกัน และเมื่อมีความต้องการ แต่ไม่ควรรับประทานเกิน 5 วัน
2.การพัฒนาวัคซีนทั้งในประเทศ และความร่วมมือกับต่างประเทศ เช่น จีน คาดว่าจะพัฒนาได้ภายในปีครึ่ง
3.ขณะนี้เริ่มมีการทดลองวิจัยการนำพลาสม่าไปใช้รักษาผู้ป่วย
4.การศึกษา Exit Strategy มีการพิจารณาจากตัวอย่างของต่างประเทศ ในส่วนภายในประเทศ นักวิชาการร่วมกันศึกษา พัฒนาแบบจำลองบูรณาการระบบการแก้ไขปัญหาเพื่อการตัดสินใจทางนโยบายต่อไป
5.ศึกษาความชุก และอุบัติการณ์ของการติดเชื้อ
6.ศึกษาเกี่ยวกับยาฟาวิพิราเวีย
ด้านการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศได้รายงานในส่วนของมาตรการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยของคนไทยและชาวต่างชาติ โดยกระทรวงการต่างประเทศได้ออกหนังสือรับรอง การเดินทางทางอากาศ และขอความร่วมมือให้อำนวยความสะดวกให้คนไทยตกค้างในต่างประเทศเดินทางกลับไทยโดยเที่ยวบินขนส่งสินค้า และเที่ยวบินต่างชาติที่มารับคนชาติของตนในไทย ระหว่างวันที่ 4-15 เม.ย.63 รวม 14 เที่ยวบิน และระหว่างวันที่ 16-19 เม.ย.63 อีก 8 เที่ยวบิน รวมทั้งสิ้น 22 เที่ยวบิน จำนวนคนไทย 1,326 คน
ทั้งนี้ การผ่านจุดผ่านแดนทางบก ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.63 กลับสู่ประเทศไทยแล้ว 685 คน จากด่านสุไหงโกลก/สะเดา ในส่วนแผนรองรับแรงงานต่างด้าวได้กำหนดจำนวนที่จะเข้ามาได้ในแต่ละวันที่รัฐบาลสามารถดูแลได้ และทุกกลุ่มต้องทำตามเงื่อนไขในการออกใบรับรองเข้าราชอาณาจักรของไทยด้วย
โดยกระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการกระจายหน้ากากและเวชภัณฑ์สำหรับประชาชนผ่านมาตรการช่วยเหลือและป้องกัน ด้านการคัดกรอง มาตรการการเดินทางเข้าออกทางบกผ่านจุดผ่านแดนถาวรทั้ง 40 จุด มีการคัดกรองทุกจุด และความพร้อมในมาตรการ Local Quarantine นั้น รองรับได้ 20,941 คน
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ปรับเวลาร้านสะดวกซื้อให้เป็นไปตามมาตรการเคอร์ฟิว คือ ปิดร้านในเวลา 22.00-04.00 น. รวมทั้งได้มีการแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการตามข้อกำหนดเพื่อจัดระเบียบการบริจาคของแก่ประชาชนให้เป็นไปตามหลักการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฯ
นอกจากนี้ พล.อ ประยุทธ์ ยังได้ขอให้พิจารณาด้านการขนส่งสินค้าที่มีข้อกำหนดและการอนุญาตไว้แล้ว โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเพื่อให้ความช่วยเหลือ พิจารณาอนุญาตเป็นรายๆไป โดยเฉพาะแก่ประชาชนในพื้นที่เดือดร้อนที่มีความจำเป็นในการส่งสินค้าเพื่อเลี้ยงชีพ
ขณะที่กระทรวงกลาโหม ได้รายงานถึงการดำเนินการ State Quarantine ว่า มีเอกชนประสงค์เข้าร่วม ซึ่งหน่วยงานที่พิจารณาร่วมกันเพื่อความปลอดภัยและเหมาะสม คือ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงสาธารณสุข
ด้านสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รายงานสรุปผลการกระจายหน้ากากอนามัย ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.-19 เม.ย.63 จำนวนทั้งสิ้น 37,497,550 ชิ้น
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวขอบคุณการดำเนินงานของทุกหน่วยงาน โดยได้ไปตรวจเยี่ยม เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ พบว่าทุกพื้นที่มีความเรียบร้อยดี ขอขอบคุณฝ่ายมั่นคงที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนอย่างดี ทั้ง ทหาร ตำรวจ พลเรือน กทม. สาธารณสุข ขอบคุณทุกคน ที่เสียสละเวลามาปฏิบัติหน้าที่
พร้อมกันนี้ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเกี่ยวกับการตรวจเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อ โดยให้เพิ่มการตรวจให้เข้มข้นในกลุ่มเสี่ยง ทำการสำรวจกลุ่มคนทำงานที่พบเจอคนจำนวนมาก เช่น แม่ค้า กลุ่มคนที่เคยตรวจไปแล้ว อาจพิจารณาตรวจอีกรอบเพื่อให้มั่นใจ ตลอดจนพิจารณาการสุ่มตรวจแรงงาน และให้สาธารณสุขชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับความก้าวหน้าการวิจัย ให้ประชาชนทราบ รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับการ Re-use หน้ากาก N95
ในส่วนของการเดินทางเข้าประเทศนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ ชี้แจงให้คนไทยทราบถึงขั้นตอน การดำเนินการเมื่อการเดินทางกลับ ต้องเข้ากระบวนการ State Quarantine และ Local Quarantine ของไทย และขอให้กระชับกระบวนการรับคนที่สนามบินให้รวดเร็วขึ้น แต่ต้องมีความปลอดภัย ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงได้รายงานว่าแก้ไขแล้ว และจะใช้เวลาเพียง 40 นาที
รวมทั้ง ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด แก้ปัญหาการเดินทางกลับเข้าประเทศไทยทางบก เพื่อไม่ให้กระทบความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และกำหนดในการเดินทางเข้าทางบกผ่านแดนทางภาคใต้ วันละ 350 คน โดยให้ช่วยกันบริหารจัดการให้ดี ระมัดระวังด้านความปลอดภัย หากทำให้ได้มากก็จะผ่อนคลายความตึงเครียดของคนไทยที่อยากเดินทางกลับบ้าน
ส่วนการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจจำเป็นต้องเดินคู่ขนานกันไป ทั้งการแก้ปัญหาในแต่ละภาคส่วน การร่วมกันทำ Big Data เพื่อทำให้ได้ข้อมูลเดียวกันในทุกส่วนงานมาพิจารณาเพื่อดูแลเรื่องการเยียวยา ฟื้นฟู ทั้งปัจจุบัน และอนาคต