“พาณิชย์” เผยตัวเลขส่งออก มี.ค.63 ขยายตัว 4.17% โตสูงสุดรอบ 8 เดือน สวนวิกฤต “โควิด-19”
"กระทรวงพาณิชย์" เผยตัวเลขส่งออก มี.ค.63 ขยายตัว 4.17% โตสูงสุดรอบ 8 เดือน สวนวิกฤต "โควิด-19"
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน มี.ค.63 โดยการส่งออกมีมูลค่า 22,404.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 4.17% จากตลาดคาดว่าจะหดตัว -5.8% โดยมีมูลค่าสูงสุดในรอบ 8 เดือนจากสินค้าอุตสาหกรรมเป็นหลัก
ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 20,812.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 7.25% ขณะที่ดุลการค้าเกินดุล 1,592.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สำหรับภาพรวมช่วง 3 เดือนแรกของปี 63 (ม.ค.-มี.ค.) การส่งออกมีมูลค่า 62,672.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 0.91% ส่วนนำเข้ามีมูลค่า 58,738.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -1.92% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 3,933.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือนมี.ค.63 สะท้อนถึงการฟื้นตัวในภาคเศรษฐกิจจริงของอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์ มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน จากการกลับมาขยายตัวสูงถึง 17.59% และขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากผลของสงครามการค้าที่เบาบางลง
อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ ยังเป็นปัจจัยกดดันมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ซึ่งมีสัดส่วนถึง 8.12% ในเดือนมี.ค. ทั้งนี้ เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ จะพบว่าการส่งออกของไทยในเดือนมี.ค.นี้ ยังสามารถขยายตัวได้ 2.12% ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกไทยในไตรมาสแรกปีนี้ ขยายตัวได้ 0.91% และเมื่อหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธแล้ว การส่งออกยังขยายตัวได้ 1.06%
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญปรับตัวลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นวงกว้างมากขึ้น แต่การส่งออกในหลายตลาด เช่น สหรัฐฯ อาเซียน ประเทศ CLMV และออสเตรเลีย ยังสามารถขยายตัวได้
โดยการส่งออกของไทยไปจีนเดือนมี.ค. ลดลง 4.8% เนื่องจากติดปัญหาด้านโลจิสติกส์ที่จีนมีการปิดเมืองทำให้การขนส่งสินค้าทำได้ไม่สะดวกนัก แต่ในทางกลับกันพบว่าการส่งออกไปสหรัฐฯ กลับมีการขยายตัวถึง 42.9%
“การส่งออกไปจีนลดลง แต่สามารถส่งออกไปสหรัฐฯ แทนจีนได้มากขึ้น เช่น อาหาร ผลไม้ ซึ่งขณะนี้ยังมีดีมานด์อยู่ทั่วโลก แต่ทั้งนี้ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ผลไม้แปรรูป ควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านสุขอนามัย ความสะอาดของแรงงานในโรงงาน เพราะขณะนี้ยังมีดีมานด์รออยู่ทั่วโลก” น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ
ขณะที่ด้านการนำเข้า พบว่าในเดือนมี.ค. มีการนำเข้าสินค้าที่เป็นวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีต่อการส่งออกในไตรมาส 2 ต่อไป โดยมองว่าการส่งออกไทยในไตรมาส 2 แม้จะอยู่ในภาวะที่ราคาน้ำมันโลกปรับตัวลดลงมาก แต่เชื่อว่าการส่งออกคงไม่ลงไปอยู่ในระดับที่ติดลบ โดยอาจจะเป็นบวกเล็กน้อยแต่คงไม่เกิน 1% ภายใต้สมมติฐานที่ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในทั่วโลกจะไม่กลับมาระบาดรุนแรงอีกครั้งเป็นรอบสอง
ทั้งนี้ น.ส.พิมพ์ชนก มองว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป และอาหารมีความเด่นชัดมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารของโลก สามารถใช้โอกาสนี้ในการขยายตลาดสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากขึ้น ขณะที่ผลของสงครามการค้าเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นตั้งแต่ต้นปี
นอกจากนี้ การกลับมาเปิดประเทศของจีนได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งสหรัฐฯ และบางประเทศในยุโรป ซึ่งเตรียมจะผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลให้บรรยากาศการค้าโลกกลับมาฟื้นตัว และทำให้การส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้มีทิศทางที่ดีขึ้นได้
โดยปัจจัยที่ยังช่วยสนับสนุนการส่งออกไทยในปีนี้ คือ
1.ความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นในประเทศที่มีการแพร่ระบาดสูง ซึ่งเป็นโอกาสดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย
2.การฟื้นตัวของประเทศที่ผ่านพ้นการระบาด โดยเฉพาะจีน ที่คาดว่าภาคการผลิตจะกลับมาดำเนินการเต็มรูปแบบภายในสิ้นเดือนเม.ย. และทำให้การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมไทยที่เป็นซัพพลายเชนของจีนมีความต่อเนื่องมากขึ้น
3.ค่าเงินบาทยังอยู่ในระดับอ่อนค่า ซึ่งช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อราคาสูง