“หมอเสริฐ” มหาเศรษฐีไทย อันดับ 11 ตอบรับรายแรก ร่วมทีม “นายกฯ” ฟื้นวิกฤต “โควิด-19”

"นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ" หมอเสริฐ มหาเศรษฐีไทย อันดับ 11 ตอบรับรายแรก ร่วมทีม "นายกฯ" ฟื้นวิกฤต "โควิด-19" พร้อมทุ่ม 100 ล้านแก้ปัญหาภัยแล้ง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (21 เม.ย.63)​ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ อดีตประธานคณะผู้บริหาร และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ประธานกรรม การบริหาร และกรรมการบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด ผู้ก่อตั้งสายการบิน บางกอก แอร์เวย์ส และผู้ถือหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ในเครือ กรุงเทพดุสิตเวชการ ที่มีโรงพยาบาลในสังกัดราว 43 แห่ง

และเป็นมหาเศรษฐี อันดับที่ 11 ของไทย จากการจัดอันดับของฟอร์บส เปิดเผยถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยากขอความเห็น และความร่วมมือในการช่วยเหลือประชาชนช่วงไวรัสโควิด-19 ที่ยังระบาดต่อเนื่อง

โดยระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยา และดูแลผลกระทบของประชาชนจากการแพร่ระบาดของไวรัสตัวนี้ไปค่อนข้างมาก และได้ผลดีในระดับหนึ่งแล้ว

ในฐานะที่ตนมีความพร้อมด้านการบิน และการแพทย์ ก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก่แพทย์สภา และกระทรวงสาธารณสุข ในการนำเครื่องบินไปรับส่งบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก เพื่อเดินทางไปรักษาคนไข้ติดเชื้อในจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะที่ภูเก็ต และส่วนอื่นๆของประเทศ พร้อมกับเข้าไปช่วยให้การศึกษาแก่ผู้คนในการระมัดระวังการติดเชื้อไวรัสจนประสบความสำเร็จในหลายจังหวัด ทั้งนี้ หากแพทย์สภาและกระทรวงสาธารณสุขต้องการให้ช่วยเรื่องใด ก็พร้อมช่วยเหลือทันทีอยู่แล้ว

ส่วนที่นอกเหนือจากสิ่งที่ทำไปแล้วก็คือ เรื่องที่นายกรัฐมนตรีร้องขอมา ซึ่งคิดว่าปัญหาที่ประเทศไทยเราจะต้องพบเจออีกต่อจากโควิด-19 คือ ปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ จึงอยากจะช่วยรัฐบาลในเรื่องนี้ โดยเฉพาะที่จังหวัดสุโขทัย

โดยสาเหตุที่ต้องเป็นจังหวัดสุโขทัย เพราะใต้ดินมีน้ำจำนวนมาก ที่สามารถนำมาใช้เพื่อการเกษตรกรรมได้ เดิมทีสุโขทัย และจังหวัดใกล้เคียง ใช้น้ำจากแก่งเสือเต้นซึ่งเป็นที่รวมของแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน เมื่อรัฐบาลไม่ให้ใช้แก่งเสือเต้น น้ำที่หลากมาในยามฤดูฝนก็จะไหลผ่านเมืองลงทะเลไปไม่สามารถเก็บกักมาใช้ทำประโยช์ได้เลยในหน้าแล้ง ไปดูตอนนี้ก็ได้ว่า แม่น้ำยมสามารถเดินข้ามไปอีกฝั่งได้ เพราะน้ำแล้งแห้งขอดไปหมด

นอกจากนี้ หมอเสริฐ กล่าวด้วยว่า อยากจะช่วยออกเงิน โดยให้รัฐส่งผู้แทนจังหวัดมา มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยจัดหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสม และไม่ทำให้เจ้าของที่ดินเดิมเดือดร้อน พร้อมทหารช่าง รวมถึงอาจจะจ้างทหารที่เกษียณราชการแล้ว แต่ยังมีกำลังวังชาอยู่ มาช่วยกันขุดบ่อน้ำเล็กๆ ให้ชาวบ้าน มีน้ำไว้ใช้ ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ เราอาจใช้เวลาขุดบ่อน้ำให้ชาวบ้านไว้เลี้ยงปลา และทำนาปรังได้ภายในเวลาเพียง 10 วันเท่านั้น

“ผมมีเครื่องมือและรถแบ็กโฮในการก่อสร้างที่ทิ้งไว้เฉยๆ โดยไม่ได้ทำอะไรอยู่มาก สามารถนำมาใช้เพื่อการนี้ได้ ผมตั้งงบไว้ประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อขุดน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ แต่กรณีนี้ ต้องให้รัฐบาลยินยอมที่จะให้มีการขุดน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ด้วย เมื่อแต่ละจังหวัดมีน้ำใช้เพียงพอ เกษตรกรก็สามารถจะจับปลาไปขาย และมีน้ำไว้ทำนาปรัง เชื่อว่า ปีหน้า ราคาข้าวน่าจะสูงขึ้น เพราะปีนี้น้ำแล้ง ปลูกข้าวไม่ค่อยได้”

ทั้งนี้ นพ.ปราเสริฐ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า คิดว่าแนวทางนี้เป็นประโยชน์กว่าการเอาเงินไปให้รัฐบาล หรือโรงพยาบาล ซึ่งผู้มีความสามารถหลายคนก็บริจาคกันไปมากแล้ว แต่การเตรียมการหลังโควิด-19 หยุดแพร่ระบาดยังไม่ได้มีคนคิด ตนจึงคิดว่าสิ่งนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ที่สำคัญยังสามารถจะขุดลอกแม่น้ำยมให้มีความลึกได้มากกว่านี้ หรือลึกลงไปราว 20 เมตรเพื่อเอาน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ อย่างบึงบอระเพ็ด ซึ่งเคยเป็นทะเลสาบใหญ่ของจังหวัดนครสวรรค์ สามารถจะขุดให้ลึกลงไปได้อีกเพื่อนำน้ำใต้ดินมาใช้ และเก็บกักน้ำไว้ในยามน้ำแล้งได้ เมื่อถึงฤดูฝนก็ไม่ต้องปล่อยให้น้ำฝนไหลผ่านลงทะเลไปโดยเปล่าประโยชน์

“สำหรับบ่อเล็กๆ ที่จะขุดเอาน้ำใต้ดินมาใช้นี้ หากสามารถเชื่อมต่อกันได้ในอนาคตเพื่อให้เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรในพื้นที่ ถ้าปีนี้ไม่ทัน อย่างน้อยปีหน้าจะมีน้ำไว้ให้เกษตรกรและประชาชนใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคได้ อนาคตข้างหน้า น้ำจะลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ และไม่มีทางที่จะหามาเพิ่มได้ ถ้าไม่ทำที่เก็บกักน้ำไว้ ผมคิดว่า ข้อเสนอของผมน่าจะช่วยรัฐบาลและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้มาก” หมอเสริฐ กล่าว

Back to top button