สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 21 เม.ย. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 21 เม.ย. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์เมื่อคืนนี้ (21 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับการทรุดตัวของราคาน้ำมัน นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี หลังจากนักวิเคราะห์ในวอลล์สตรีทได้ปรับลดเป้าหมายราคาหุ้นของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊ก และอัลฟาเบท โดยปัจจัยลบดังกล่าวได้บดบังรายงานเชิงบวกที่ว่า วุฒิสภาสหรัฐได้ผ่านร่างมาตรการเยียวยาธุรกิจขนาดเล็กในวงเงิน 4.84 แสนล้านดอลลาร์
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 23,018.88 จุด ลดลง 631.56 จุด หรือ -2.67% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,736.56 จุด ลดลง 86.60 จุด หรือ -3.07% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,263.23 จุด ลดลง 297.50 จุด หรือ -3.48%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (21 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับการร่วงลงของราคาน้ำมันดิบสหรัฐ และรายงานผลประกอบการรายไตรมาสที่ซบเซาของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งได้ตอกย้ำความกังวลที่มีอยู่แล้วเกี่ยวกับความเสียหายของเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ดัชนี Stoxx Europe 600 ร่วงลง 3.39% ปิดที่ 324.31 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,357.46 จุด ลดลง 170.84 จุด หรือ -3.77%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 10,249.85 จุด ลดลง 426.05 จุด หรือ -3.99% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,641.03 จุด ลดลง 171.80 จุด หรือ -2.96%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (21 เม.ย.) เนื่องจากการดิ่งลงของราคาน้ำมันดิบสหรัฐต่ำกว่าระดับ 0 ดอลลาร์เป็นประวัติการณ์ครั้งแรก ทำให้นักลงทุนมีความวิตกมากขึ้นเกี่ยวกับความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,641.03 จุด ลดลง 171.80 จุด หรือ -2.96%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) เดือนพ.ค.ปิดดีดตัวขึ้นสู่แดนบวกก่อนครบกำหนดส่งมอบเมื่อคืนนี้ (21 เม.ย.) ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนมิ.ย.ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 21 ปี เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลก
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 47.64 ดอลลาร์ หรือ 126.6% ปิดที่ 10.01 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยสัญญาน้ำมันเดือนพ.ค.ได้ครบกำหนดส่งมอบแล้วในวันอังคารที่ 21 เม.ย.
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 8.86 ดอลลาร์ หรือ 43.4% ปิดที่ 11.57 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2542
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมิ.ย ลดลง 6.24 ดอลลาร์ หรือ 24.4% ปิดที่ 19.33 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงหลุดจากระดับ 1,700 ดอลลาร์/ออนซ์เมื่อคืนนี้ (21 เม.ย.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ได้สร้างแรงกดดันต่อตลาดทองคำ
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 23.4 ดอลลาร์ หรือ 1.37% ปิดที่ 1687.8 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 73.8 เซนต์ หรือ 4.73% ปิดที่ 14.876 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ดิ่งลง 37.6 ดอลลาร์ หรือ 4.72% ปิดที่ 758.4 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 219.90 ดอลลาร์ หรือ 10.3% ปิดที่ 1,907.60 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (21 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนพากันเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัยและมีสภาพคล่องมากที่สุด และเทขายสกุลเงินที่มีความเสี่ยง หลังจากสัญญาน้ำมันดิ่งลงอย่างหนัก
ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวขึ้น 0.29% สู่ระดับ 100.2532 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.77 เยน จากระดับ 107.64 เยน, แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9699 ฟรังก์ จากระดับ 0.9678 ฟรังก์ และดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.4199 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.4133 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0853 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0861 ดอลลาร์, เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2281 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2445 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6287 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6348 ดอลลาร์สหรัฐ