“สนพ.” เผยยอดผลิต-ขาย “ไบโอดีเซล” หดถึง 25% หลังปชช. Work From Home หนี “โควิด”
"สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน" (สนพ.) เผยยอดผลิต-ขาย "ไบโอดีเซล" สัปดาห์นี้ (20-29 เม.ย.) หดถึง 25% หลังปชช. Wor From Home หนี "โควิด-19"
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันชีวภาพ ในช่วงวันที่ 20-26 เม.ย. 63 พบยอดการผลิตและการจำหน่าย B100 ลดลงประมาณ 20-25% ส่วนปริมาณความต้องการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้น จากความต้องการแอลกอฮอล์ในการทำความสะอาด ในช่วงสถานการณ์โควิด-19
โดยสถานการณ์ราคาไบโอดีเซล (B100) ราคาน้ำมันไบโอดีเซลอ้างอิงเฉลี่ย วันที่ 20-26 เม.ย. 63 อยู่ที่ 28.03 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.06 บาทต่อลิตร
จากสถานการณ์ราคาผลปาล์มน้ำมัน ณ วันที่ 13 – 17 เมษายน 2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.10-3.40 บาทต่อ กก. ราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 22.75 – 24.75 บาทต่อ กก. ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนเพียงเล็กน้อย โดยราคาวัตถุดิบไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอาทิตย์ก่อน ตลาดยังคงนิ่งไม่ผันผวนรอดูสถานการณ์
แต่อย่างไรก็ตามปริมาณการใช้ยังคงลดลง จากผลกระทบไวรัสโควิด-19 ทำให้ปริมาณยอดการผลิตและการจำหน่าย B100 ลดกำลังการผลิตไปประมาณ 20-25% จากยอดขายเดิม ในขณะที่คนจำนวนมากทำงานจากที่บ้าน และความต้องการใช้รถส่วนบุคคล รถสาธารณะ และนักท่องเที่ยวหายไป เช่นเดียวกันกับการบริโภคน้ำมันปาล์มขวดลดไปถึง 30-40% จากที่ผลิตเดือนละ 1.2 แสนตันปัจจุบันเหลือแค่ 6-7 หมื่นตัน
ส่วนราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ จากการส่งออกน้ำมันดีเซลไปยังภูมิภาคยุโรปได้ อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ในเอเชียยังคงซบเซา และสำหรับราคาน้ำมันปาล์มขวด ในช่วงที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงขวดละ 2-3 บาททำให้ราคาจำหน่ายเหลืออยู่ที่ 39-40 บาทโดยเฉลี่ย และในปัจจุบันราคาจำหน่ายปลีกในห้าง ก็มีการปรับลดลงมาแล้ว
ปริมาณสต๊อกคงเหลือหักน้ำมันปาล์มดิบของ กฟผ. ณ สิ้นเดือน มี.ค. ประมาณ 169,046 ตัน ส่วนสต๊อกน้ำมันไบโอดีเซล (B100) ณ สิ้นเดือน มี.ค. 63 เหลือประมาณ 100.39 ล้านลิตร (ข้อมูลล่าสุดถึงแค่สิ้นเดือน มี.ค.)
สำหรับสถานการณ์ราคาเอทานอล โดยราคาเอทานอล อ้างอิงเดือนเมษายน 2563 อยู่ที่ 23.28 บาทต่อลิตร ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.67 บาทต่อลิตร จากปัจจัย ราคามันสำปะหลังที่ปรับสูงขึ้น จากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดลดลงจากปัญหาภัยแล้ง และโรคใบด่าง ในขณะที่ความต้องการมันสำปะหลังภายในประเทศก็มีแนวโน้มปรับตัวมากขึ้น , ราคากากน้ำตาลที่ปรับสูงขึ้น จากผลผลิตที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้ง อีกทั้งปริมาณความต้องการใช้ในการขอนำเอทานอลไปทำเป็นแอลกอฮอล์ในการทำความสะอาดและแอลกอฮอล์เจลในช่วงสถานการณ์โควิด-19
ทั้งนี้ โรงงานเอทานอล จำนวน 27 โรง กำลังการผลิตติดตั้ง 6.125 ล้านลิตรต่อวัน โดยใช้กากน้ำตาลในการผลิต 12 โรง ใช้มันสำปะหลัง 9 โรง และใช้ทั้งกากน้ำตาลและมันสำปะหลัง 6 โรง
ขณะที่ปริมาณการใช้เอทานอล มาผสมในน้ำมันเบนซินเพื่อจำหน่ายเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 4.40 ล้านลิตรต่อวัน