สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 24 เม.ย. 2563

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 24 เม.ย. 2563


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (24 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับรายงานข่าวที่ว่า บางรัฐของสหรัฐเตรียมที่จะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ชะลอตัวลง นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ลงนามในร่างกฎหมายมาตรการเยียวยาธุรกิจขนาดเล็กและโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 วงเงิน 4.84 แสนล้านดอลลาร์

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 23,775.27 จุด เพิ่มขึ้น 260.01 จุด หรือ +1.11%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,836.74 จุด เพิ่มขึ้น 38.94 จุด หรือ +1.39% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,634.52 จุด เพิ่มขึ้น 139.77 จุด หรือ +1.65%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อวันศุกร์ (24 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังที่กองทุนฉุกเฉินซึ่งผู้นำสหภาพยุโรป (EU) เห็นชอบนั้น ยังขาดรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19

ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 1.10% ปิดที่ 329.59 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,393.32 จุด ลดลง 57.68 จุด หรือ -1.30%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 10,336.09 จุด ลดลง 177.70 จุด หรือ -1.69% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,752.23 จุด ลดลง 74.38 จุด หรือ -1.28%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อวันศุกร์ (24 เม.ย.) และติดลบเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน หลังอังกฤษเปิดเผยยอดค้าปลีกร่วงลงอย่างหนักในเดือนมี.ค.ซึ่งบ่งชี้ถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการร่วงลงของหุ้นกลุ่มพลังงานถ่วงตลาดลงด้วย

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,752.23 จุด ลดลง 74.38 จุด หรือ -1.28%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ (24 เม.ย.) และบวกขึ้นเป็นวันที่ 3 ติดต่อกันแล้ว โดยได้ปัจจัยหนุนจากข้อมูลที่บ่งชี้ว่า จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐลดลง และประเทศในกลุ่มโอเปกพลัสเริ่มปรับลดการผลิตน้ำมัน

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 44 เซนต์ หรือ 2.7% ปิดที่ 16.94 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 11 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 21.44 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อวันศุกร์ (24 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนขายสัญญาทองคำออกมาเพื่อทำกำไร หลังจากราคาปรับตัวขึ้นถึง 4 สัปดาห์ในรอบ 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่การปรับฐานทางเทคนิคถ่วงราคาทองลง และการซื้อขายที่ลดลงในตลาดพันธบัตรสหรัฐได้ลดความต้องการซื้อทองในฐานะแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยด้วย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 9.8 ดอลลาร์ หรือ 0.56% ปิดที่ 1,735.6 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่ในรอบสัปดาห์นี้ สัญญาทองคำ ปรับตัวขึ้น 2.2%

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 9.4 เซนต์ หรือ 0.61% ปิดที่ 15.263 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 14.27 ดอลลาร์ หรือ 1.8% ปิดที่ 773.8 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 15.70 ดอลลาร์ หรือ 0.8% ปิดที่ 1,985.30 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (24 เม.ย.) หลังจากแข็งค่าขึ้น 4 วันติดต่อกัน โดยนักลงทุนขายดอลลาร์ออกมาเพื่อทำกำไรท่ามกลางความไม่แน่นอนต่างๆ ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.05% สู่ระดับ 100.3904

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.42 เยน จากระดับ 107.60 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9749 ฟรังก์ จากระดับ 0.9761 ฟรังก์ แต่แข็งค่าเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.4104 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.4047 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0797 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0785 ดอลลาร์, เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2351 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2354 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6382 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6385 ดอลลาร์สหรัฐ

 

Back to top button