7 องค์กรน้ำเมา ร้อง “ศบค.” คลายมาตรการห้ามขายเหล้า ต่อลมหายใจผู้ประกอบการ
7 ตัวแทนภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยื่นจม.เปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ "ศบค." ผ่อนปรนห้ามขายเหล้า ออกมาตรการเยียวยา ต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (27 เม.ย.63)7 ตัวแทน ภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้เดินทางเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เพื่อขอให้ผ่อนปรนมาตรการห้ามจำหน่ายช่วยภาคธุรกิจเครื่องดื่มและร้านอาหารจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ
โดยเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึก ระบุว่า จากการที่รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.-30 เม.ย.63 ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด รวมถึงกรุงเทพฯ ได้ประกาศขยายเวลาห้ามจำหน่ายสุรา จนถึงวันที่ 30 เม.ย. สมาพันธ์ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายสุราแห่งประเทศไทย อันประกอบด้วย สมาคม ชมรม กลุ่ม เครือข่ายของผู้ประกอบการผลิต นำเข้า และจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และธุรกิจต่อเนื่องต่างๆ ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวอย่างรุนแรง
ดังนั้น เพื่อให้ธุรกิจยังพอดำเนินต่อไปได้ จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาผ่อนปรน และเยียวยากรณีต่างๆ โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
1. การขอมิให้มีการขยายเวลาห้ามจำหน่ายสุราออกไปหลังวันที่ 30 เม.ย.63 อีก และขอให้ร้านที่มีใบอนุญาตจำหน่ายสุราสามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อซื้อกลับบ้านหรือส่งให้ถึงบ้านได้เหมือนอาหารประเภทอื่น
2. ผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตจำหน่ายสุราสามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อซื้อกลับบ้านหรือส่งให้ถึงบ้านได้เหมือนอาหารประเภทอื่นๆ โดยสามารถจำหน่ายในเวลา 14.00 น. ถึง 17.00 น. ได้
3. เบียร์สามารถเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ได้เพื่อขนส่งออกนอกสถานที่บริการในช่วงป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 จนกว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติ เพื่อเป็นการระบายสินค้า ซึ่งตกค้างอยู่จำนวนมาก เพราะสินค้าที่มีอายุจำกัดและต้องการการจัดเก็บเย็นทำให้เสียค่าเก็บรักษาในโกดังควบคุมอุณหภูมิและความเสียหายได้ถ้าถูกทิ้งไว้เป็นเวลานาน
4. พิจารณาเรื่องการออกระเบียบปฏิบัติในการขอคืนภาษี และทำลายสินค้าสุราที่เสื่อมสภาพ โดยให้ ศบค.ออกคำสั่งให้กรมสรรพสามิต เร่งรัดขั้นตอนการคืนภาษีในกรณีดังกล่าวเป็นกรณีพิเศษให้สะดวกและรวดเร็วขึ้น หรือจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ประกอบการไว้ก่อนอย่างช้าภายใน 3 เดือน
5. พิจารณาผ่อนปรนเรื่องการขนย้ายสุราหากมีการห้ามจำหน่ายเนื่องจากคราฟท์เบียร์ ไวน์องุ่น และสุราแช่ หลายชนิดเป็นสินค้าที่ต้องจัดเก็บตามอุณหภูมิที่กำหนด เมื่อมีการนำเข้ามาจึงต้องมีการชำระภาษี และขนย้ายเข้าไปเก็บคลังสินค้าของผู้ประกอบการให้เร็วที่สุด การประกาศห้ามขายส่ง (ใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ 1) ทำให้ไม่สามารถนำสินค้าที่เสียภาษีแล้วไปเก็บในคลังของผู้ประกอบการได้
รวมถึง หากมีการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขอมีการแจ้งล่วงหน้าให้มีการเตรียมการหรือมีความชัดเจนในเรื่องของการขนส่งหลังจากการจำหน่ายเสร็จสิ้น เพื่อป้องกันการกระทำผิดข้อห้ามโดยไม่ได้มีเจตนา
ทั้งนี้ หากมีการประกาศใดๆจากภาครัฐ ขอให้มีการแจ้งล่วงหน้าเพื่อการเตรียมการหรือมีความชัดเจนในเรื่องการขนส่งให้เสร็จสิ้นทันการ เช่น ให้มีผลบังคับใช้หลังประกาศ 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน เพื่อให้สินค้าที่เปิดบิลในวันที่ประกาศ ได้ดำเนินการจัดส่งเสร็จสิ้นภายใน 3 วัน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การขอผ่อนปรนและเรียกร้องมาตรการเยียวยาจากภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งเสียงของผู้ที่ได้รับผลกระทบทางตรงที่ต้องการให้ภาครัฐมองอย่างใจเป็นกลางในมิติของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการจ้างงาน เพราะการที่ภาครัฐประกาศห้ามจำหน่ายสุราด้วยหวังจะป้องปรามการกระทำผิดเฉพาะบุคคล กำลังกลายเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้บริโภคทั้งประเทศที่เขาเองก็ประพฤติตนตามมาตรการอย่างเคร่งครัด
อีกทั้งหากยังขยายระยะเวลาห้ามจำหน่ายสุราออกไป โดยไม่มีการชดเชยหรือมาตรการเยียวยาใดๆเพิ่มเติมแล้ว ก็คาดว่าในไม่ช้าจะกระทบต่อการเลิกจ้างพนักงาน การทยอยปิดกิจการจากระดับร้านค้าไปถึงผู้นำเข้าและผู้ผลิตฯ ขยายวงกว้างความเสียหายทางเศรษฐกิจจนยากจะกลับมาฟื้นฟูได้อีกครั้ง
อนึ่ง 7 ตัวแทน ภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประกอบด้วย สมาคมผู้ประกอบการไวน์ไทย สมาคมผู้ผลิตไวน์ผลไม้และสุราพื้นบ้านไทย ชมรมผู้ประกอบการร้านคราฟท์เบียร์ ชมรมผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายคราฟท์เบียร์ ชมรมเบียร์บรูเออร์แห่งประเทศไทย ชมรมผู้ค้าและตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์และวัตถุดิบทำเบียร์ และสมาคมบาร์เทนเดอร์ประเทศไทย