“กพท.” ออกประกาศแนวปฏิบัติ คุมเข้ม “โควิด-19” รับเปิดเส้นทางบินในประเทศ 1 พ.ค.นี้
"สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทน" (กพท.) ออกประกาศแนวปฏิบัติสายการบิน คุมเข้ม "โควิด-19" รับเปิดเส้นทางบินในประเทศ 1 พ.ค.นี้
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT ประกาศแนวปฏิบัติในการให้บริการผู้โดยสารในเส้นทางการบินในประเทศ ในระหว่างสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งจะกลับมาให้บริการในเดือนพฤษภาคมนี้
โดยสายการบินภายในประเทศเตรียมให้บริการได้ แต่ทุกสายการบิน ลูกเรือ และผู้โดยสาร ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัดในการเดินทาง ดังต่อไปนี้
1. แนวปฏิบัตินี้ให้ใช้บังคับแก่การให้บริการในเส้นทางการบินภายในประเทศ (Domestic Flights)
2. ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศดำเนินมาตรการ ดังนี้
(1) จำกัดจำนวนที่นั่งที่จะให้บริการบนอากาศยาน โดยการจำหน่ายบัตรโดยสารจะต้องคำนึงถึงการจัดที่นั่งโดยเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 ที่นั่งโดยสารระหว่างผู้โดยสารแต่ละคน เว้นแต่
(ก) สภาพทางกายภาพของที่นั่งส่วนใดส่วนหนี่งของอากาศยานมีระยะห่างที่เพียงพอที่จะสามารถป้องกันการติดต่อสัมผัสและการแพร่เชื้อโรคทางฝอยละอองน้ำลายได้
(ข) เป็นอากาศยานขนาดเล็กที่มีจำนวนที่นั่งทั้งหมด (Total number of seat) ไม่เกิน 19 ที่นั่ง และปฏิบัติการบินแบบเช่าเหมาลำ
(ค) เป็นอากาศยานที่มีจำนวนที่นั่งทั้งหมด (Total number of seat) ไม่เกิน 90 ที่นั่ง ทั้งนี้ ให้จำหน่ายบัตรโดยสารได้ไม่เกินร้อยละ 70 ของจำนวนที่นั่งทั้งหมดของอากาศยาน
(2) ในกรณีที่ปรากฏว่าท่าอากาศยานต้นทางไม่มีการทำการตรวจคัดกรองบุคคลที่เข้ามาใช้บริการในท่าอากาศยาน ให้ทำการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย (Body Temperature Screening) ของผู้โดยสาร โดยใช้เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดที่ไม่ต้องสัมผัสกับร่างกายของผู้ถูกตรวจวัด (Non-contact infrared thermometer) ก่อนขึ้นเครื่อง และสังเกตอาการโดยทั่วไป
หากวัดอุณหภูมิได้สูงกว่า 37.3 องศาเซลเซียส หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที หากการวินิจฉัยเห็นว่ามีความเสี่ยง ให้งดการออกบัตรขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) แก่ผู้โดยสารนั้น
(3) กำหนดให้มีมาตรการและวิธีปฏิบัติเพื่อรักษาระยะห่างของผู้โดยสารตลอดระยะเวลาเดินทาง โดยรวมถึงขั้นตอนการลำเลียงผู้โดยสารขึ้นและลงจากอากาศยาน ไม่ว่าจะดำเนินการด้วยการเดินเท้า การใช้รถบัสหรือสะพานเทียบอากาศยาน การรวมกลุ่มในขณะจัดเก็บสัมภาระในที่เก็บของเหนือศีรษะและการเข้าแถวรอใช้ห้องน้ำในห้องโดยสาร โดยมาตรการและวิธีการปฏิบัตินั้นต้องมั่นใจได้ว่ามีการรักษาระยะห่างที่เหมาะสมสำหรับผู้โดยสารที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษด้วย
(4) กำหนดให้ผู้โดยสารสวมหน้ากากอนามัย (Surgical Mask) ตลอดเวลาตั้งแต่ขึ้นเครื่องจนกว่าจะออกจากเครื่อง ทั้งนี้ ในระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบเพื่อออกบัตรขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) ให้ตรวจสอบด้วยว่าผู้โดยสารมีหน้ากากอนามัย ถ้าพบว่าผู้โดยสารไม่มีหน้ากากอนามัยและไม่สามารถจัดหามาแสดงได้ ให้งดการออกบัตรขึ้นเครื่องให้แก่ผู้โดยสารนั้น
(5) งดการให้บริการอาหารและเครื่องดื่มในระหว่างการปฏิบัติการบิน รวมทั้งห้ามผู้โดยสารรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่นำติดตัวมา
ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็น ลูกเรืออาจพิจารณาจัดน้ำดื่มให้บริการแก่ผู้โดยสารได้ ทั้งนี้ ให้กระทำในพื้นที่ที่ห่างจากผู้โดยสารคนอื่นให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
(6) จัดเตรียมแอลกอฮอล์เจลไว้ให้บริการแก่ผู้โดยสารตามความเหมาะสม
(7) กำหนดให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในอากาศยานใช้อุปกรณ์ช่วยป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment (PPE) ดังนี้
(ก) นักบินให้สวมหน้ากากอนามัย (Surgical Mask)
(ข) ลูกเรือให้สวมหน้ากากอนามัยและถุงมือยาง (Disposable Medical Rubber Gloves) ตลอดระยะเวลาปฏิบัติการบิน โดยผู้ดำเนินการเดินอากาศสามารถพิจารณาจัดหาอุปกรณ์อื่นที่สามารถป้องกันการติดเชื้อเพิ่มเติมได้ เช่น แว่นตา (Goggles) อุปกรณ์ป้องกันใบหน้าจากของเหลวติดเชื้อ (Face Shield) หรือชุดป้องกันเชื้อโรค เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ดำเนินการเดินอากาศอาจจัดหาอุปกรณ์ทำความสะอาดชีวภาพ (Universal Precautions Kits (UPK)) ให้มีจำนวนเพียงพอและเหมาะสมในแต่ละเที่ยวบิน เพื่อให้ลูกเรือใช้ทำความสะอาดและกำจัดของเหลวที่มีอันตรายทางชีวภาพเพื่อลดการแพร่เชื้อโรคในห้องโดยสาร
(8) ในการปฏิบัติการบินที่ใช้ระยะเวลามากกว่า 90 นาที ให้สำรองที่นั่ง 2 แถวหลังสุดด้านใดด้านหนึ่งของอากาศยานไว้สำหรับแยกกักผู้โดยสารที่ป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยเพื่อเฝ้าสังเกตอาการและป้องกันการแพร่กระจายของโรค
(9) ในกรณีที่พบผู้โดยสารหรือลูกเรือที่มีอาการป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ขณะอยู่บนอากาศยาน ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศดำเนินมาตรการ On-board Emergency Quarantine ดังนี้
(ก) ให้แยกกักผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าจะป่วยนั่งที่ที่นั่งริมหน้าต่างด้านขวาแถวหลังสุด ให้ห่างไกลจากผู้โดยสารคนอื่นมากที่สุด
(ข) ให้กันห้องน้ำห้องหลังสุดไว้ใช้สำหรับกรณีการกักกันโรคโดยเฉพาะ
(ค) ให้มอบหมายหน้าที่ให้ลูกเรือคนหนึ่งทำหน้าที่ในพื้นที่แยกกัก และให้ลูกเรือที่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับลูกเรือคนอื่นในระยะใกล้กว่า 2 เมตร
(ง) ให้นักบินผู้ควบคุมอากาศยานแจ้งข้อมูลการตรวจพบผู้โดยสารหรือลูกเรือที่มีอาการป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ เพื่อรายงานให้แก่ผู้ดำเนินการสนามบิน ณ ท่าอากาศยานปลายทาง
(10) ดำเนินการแจ้งเตือนผู้โดยสารเพื่อให้รับทราบและปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เกี่ยวกับมาตรการทางสาธารณสุขก่อนการเดินทาง และให้ประกาศแจ้งผู้โดยสารอีกครั้งในระหว่างการเดินทางเพื่อให้ทราบว่าการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ควบคุมอากาศยานหรือเจ้าหน้าที่ประจำอากาศยาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการสวมหน้ากากอนามัยและมาตรการทางสาธารณสุขอย่างอื่นบนอากาศยานเป็นความผิดและอาจได้รับโทษตามกฎหมายว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ
(11) ทุกครั้งหลังจากเสร็จสิ้นการปฏิบัติการบิน ให้ทำการฆ่าเชื้อโรค (Disinfection) ในส่วนของห้องโดยสาร (Passenger Compartment) ตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
3. ให้ผู้ดำเนินการสนามบินดำเนินมาตรการ ดังนี้
(1) ทำการตรวจคัดกรองบุคคลที่เข้ามาใช้บริการในท่าอากาศยาน โดยต้องมีตรวจสอบการสวมหน้ากากอนามัยและการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย (Body Temperature Screening) ด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดที่ไม่ต้องสัมผัสกับร่างกายของผู้ถูกตรวจวัด (Non-contact infrared thermometer)
หากบุคคลนั้นไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือวัดอุณหภูมิได้สูงกว่า 37.3 องศาเซลเซียส ให้ปฏิเสธการให้เข้าพื้นที่ท่าอากาศยาน
(2) จัดการเกี่ยวกับการเว้นระยะนั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อยหนึ่งเมตรในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีจัดไว้ให้ดำเนินกิจกรรม เช่น พื้นที่ที่ผู้ดำเนินการเดินอากาศใช้เพื่อดำเนินการออกบัตรขึ้นเครื่อง (Check- in counter) พื้นที่ที่ผู้โดยสารรอขึ้นเครื่อง
4. ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศแจ้งแนวทางปฏิบัติตาม 2. ให้เจ้าหน้าที่ประจำสถานีต้นทางและผู้ปฏิบัติหน้าที่ในอากาศยานทราบและถือปฏิบัติ และให้ผู้ดำเนินการสนามบินแจ้งแนวทางปฏิบัติตาม 3. ให้เจ้าหน้าที่ประจำท่าอากาศยานของตนทราบและถือปฏิบัติ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป