“ศบค.” เคาะผ่อนปรน กิจการ-กิจกรรม 6 กลุ่มแรก 3 พ.ค.นี้ ทั่วประเทศ!
"ศบค." เคาะผ่อนปรน กิจการ/กิจกรรม 6 กลุ่มแรก ตลาด-ร้านอาหาร-ร้านตัดผม ฯลฯ 3 พ.ค.นี้ ทั่วประเทศ!
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงมาตรการผ่อนปรนกิจการ/กิจกรรมใน 6 กลุ่มแรก เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.นี้
1. ตลาด ประกอบด้วย ตลาดสด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดชุมชน ถนนคนเดิน แผงลอย
2.ร้านจำหน่ายอาหาร ประกอบด้วย ร้านอาหารทั่วไป ร้านเครื่องดื่ม ขนมหวาน ไอศกรีม (นอกห้าง) ร้านอาหารริมทาง รถเข็น หาบเร่
3.กิจการค้าปลีก-ส่ง ประกอบด้วย ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ บริเวณพื้นที่นั่ง/ยืนรับประทาน ร้านค้าปลีกขนาดย่อม / ร้านค้าปลีกชุมชน ร้านขายปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม เป็นต้น
4. กีฬา สันทนาการ ประกอบด้วย กิจกรรมในสวนสาธารณะ สนามกีฬากลางแจ้งที่เป็นการออกกำลังกาย โดยไม่ได้เล่นเป็นทีมและไม่มีการแข่งขัน ได้แก่ เทนนิส ยิงปืน ยิงธนู จักรยาน กอล์ฟและสนามซ้อม
5. ร้านตัดผมเสริมสวย เฉพาะ ตัด สระ ไดร์
6. อื่นๆ ได้แก่ ร้านตัดขนสัตว์ ร้านรับเลี้ยงรับฝากสัตว์
ทั้งนี้ ศบค.จะกำหนดมาตรการผ่อนปรนเป็นมาตรฐานกลาง และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด ผู้ว่าฯ กทม. กำหนดรายละเอียดต่อไป
โดยแต่ละพื้นที่สามารถเข้มข้นมากกว่ามาตรฐานกลางได้ แต่หย่อนกว่าไม่ได้ ให้ยึดปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ส่วนมาตรการทางสังคม และเศรษฐกิจจะนำมาประกอบการพิจารณา
นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า จะใช้ช่วงเวลา 14 วันหลังจากนี้ไปคอยติดตามประเมินผล หากมียอดผู้ติดเชื้อคงที่หมายถึงการได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากประชาชน รู้จักวิธีดูแลจัดการตัวเองและกิจการได้ดี ก็อาจจะเลื่อนลำดับกิจการหรือกิจกรรมผ่อนคลายได้มากกว่านี้
แต่หากพบว่าภายใน 14 วันนี้ยอดผู้ติดเชื้อกลับไปเพิ่มเป็นวันละ 2-3 หลัก ก็อาจจะต้องมีการทบทวนและถอยกลับไปสู่การใช้มาตรการที่เข้มข้นเหมือนในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งจะต้องมีการทบทวนกิจการและกิจกรรมใหม่ทั้งหมด
ส่วนการที่ประเทศไทยจะกลับเข้าสู่การใช้ชีวิตปกติในรูปแบบใหม่ หรือ New Normal ได้เมื่อใดนั้น หากประเมินจากการแบ่งมาตรการผ่อนปรนไว้ 4 ระยะ ระยะละ 14 วัน ก็อาจจะพูดได้ว่าคงจะเป็นภายใน 2 เดือนนับจากนี้ไป แต่ทั้งนี้ย่อมต้องขึ้นกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของประเทศต่างๆ ที่ต้องนำมาพิจารณาด้วยเช่นกัน
“ถ้าทุกอย่างดีหมด 14 วันแรกผ่านไปด้วยดี 14 วันที่สองผ่านไปด้วยดี แบ่งเป็น 4 ช่วง ก็เท่ากับประมาณ 2 เดือน แต่จะเป๊ะแบบนั้นหรือไม่ โรคจะหายไปภายใน 2 เดือนหรือไม่ คงไม่ได้เกิดจากข้อมูลของประเทศไทยฝ่ายเดียว ต้องขึ้นกับประเทศรอบๆ เราด้วยว่ายังมีคนติดเชื้อจำนวนมากหรือไม่ ก็อาจจะต้องเป็นอีกตัวแปรที่นำเข้ามาพิจารณา ดังนั้นจึงยังไม่มีคำตอบที่สามารถบอกได้ชัดเจน…ถ้าวันนี้เราร่วมมือกันดี อาจจะเห็นเร็วกว่านั้นก็ได้ แต่ถ้าวันนี้เราหย่อนกันมาก แล้วพรุ่งนี้มีติดเชื้อเพิ่มขึ้น 2 หลัก สิ่งที่พูดกันวันนี้ก็จะกลายเป็นศูนย์ทันที ไม่มีอะไรแน่นอน 100% แต่เรายังมีความหวังในเชิงบวกที่จะเห็นความร่วมมือของพี่น้องประชาชนทุกคน” โฆษก ศบค.ระบุ
ด้านนายทศพร เสรีรักษ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า 14 วันหลังจากวันที่ 3 พ.ค.นี้ จะเป็นตัวชี้วัดว่ากิจการหรือกิจกรรมที่อยู่ในระยะต่อไปว่าจะผ่อนปรนหรือกลับไปเข้มข้นกว่าเดิม ซึ่ง ศบค.จัดทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงไว้ 4 ระยะ
โดยระยะแรกเป็นกลุ่มความเสี่ยงน้อย ซึ่งได้รับการผ่อนปรนตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.นี้ ส่วนกลุ่มที่มีความเสี่ยงมาก เช่น สถานที่แออัด มีคนจำนวนมาก เช่น คอนเสิร์ต, สนามมวย, สนามฟุตบอล จะจัดอยู่ในระยะที่ 4 ดังนั้น กลุ่มที่อยู่นอกเหนือจากนี้จะถูกจัดไว้ในระยะที่ 2 และ 3
การจะเริ่มผ่อนคลายให้แก่กิจการ/กิจกรรมระยะ 2 และ 3 ได้เมื่อใดนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ คือ ถ้าภายใน 14 วันนี้ ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นน้อยหรือไม่ได้มีนัยสำคัญ ก็ทำให้มั่นใจที่จะผ่อนคลายให้แก่กิจการ/กรรมที่อยู่ในระยะที่ 2 ได้ และ ผลของการผ่อนปรนระยะที่ 1 หากสถานประกอบการมีความพร้อมสำหรับระยะ 2 เมื่อการผ่อนคลายระยะ 1 ผ่านไปเรียบร้อยก็จะเข้าสู่ระยะที่ 2 และ 3 ได้ต่อไป
“ในระยะที่ 2 และ 3 นี้ จะมีความเข้มข้นมากขึ้นกว่าระยะแรก เพราะเป็นกิจการในระบบปิด เช่น ในห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้า ซึ่งเราเตรียมการว่าห้าง, ร้านที่จะเปิดในระยะที่ 2 และ 3 ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรการ ซึ่งต้องมีการขออนุญาตเข้ามา แล้วทางราชการส่วนท้องถิ่น จะอนุมัติแล้วให้ QR CODE ติดหน้าร้าน แสดงว่าเป็นร้านปลอดภัย ในระยะที่ 2 จะมีระบบการดูแลที่มีรายละเอียดชัดเจนมากขึ้น” นายทศพร กล่าว
ขณะที่นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ขยายความถึงกรณีการผ่อนปรนให้ผู้ขายเสื้อผ้า อาหาร ในรูปแบบของร้านค้า หาบเร่ หรือแผงลอยสามารถจำหน่ายสินค้าได้ว่า แต่ละร้านค้าหรือแต่ละแผงค้าจำเป็นต้องจัดพื้นที่ให้มีระยะห่างระหว่างร้านอย่างน้อย 1 เมตร ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา หากมีเจลล้างมือบริการไว้ด้วยก็ถือเป็นเรื่องที่ดี
สำหรับร้านอาหารที่ผ่อนผันให้เปิดบริการให้คนเข้ามารับประทานในร้านได้นั้น จะต้องเป็นร้านค้าขนาดไม่เกิน 2 คูหา จำเป็นต้องจัดโต๊ะให้เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร ซึ่ง ศบค.จะจัดทำคู่มือกลางไว้สำหรับเป็นแนวทางในการปฏิบัติของแต่ละร้านค้า
อย่างไรก็ดี การอนุญาตให้นั่งรับประทานอาหารภายในร้านได้นั้น จะเป็นเฉพาะกรณีของร้านทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ภายในห้างสรรพสินค้าหรือภายในศูนย์การค้า
“ร้านอาหารแบบห้องแถวที่ไม่เกิน 2 คูหา สามารถเปิดได้ แต่ต้องจัดพื้นที่ให้มีระยะห่าง…ร้านสุกี้ ชาบู อาจจะลำบากในการรับประทานร่วมกันหากมาเป็นครอบครัว ถ้าเป็นไปได้อยากให้ซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านน่าจะสะดวกกว่า” นายกลินท์ ระบุ