สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 6 พ.ค. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 6 พ.ค. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (6 พ.ค.) หลังจากมีรายงานว่าตัวเลขจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐร่วงลงกว่า 20 ล้านตำแหน่งในเดือนเม.ย. ซึ่งทำให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับการทรุดตัวของตลาดแรงงาน อันเนื่องมาจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างหนัก อย่างไรก็ดี ดัชนี Nasdaq ปิดในแดนบวก โดยได้แรงหนุนจากคำสั่งซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 23,664.64 จุด ลดลง 218.45 จุด หรือ -0.91% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,848.42 จุด ลดลง 20.02 จุด หรือ -0.70% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,854.39 จุด เพิ่มขึ้น 45.27 จุด หรือ +0.51%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (6 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับการคาดการณ์ที่ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัวลงในปีนี้ แม้ว่าหลายประเทศในยุโรปเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายแล้วก็ตาม
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.35% ปิดที่ 334.34 จุด
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 10,606.20 จุด ลดลง 123.26 จุด หรือ -1.15% และดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,433.38 จุด ลดลง 49.75 จุด หรือ -1.11% ขณะที่ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,853.76 จุด เพิ่มขึ้น 4.34 จุด หรือ +0.07%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (6 พ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มเวชภัณฑ์และเทคโนโลยีชีวภาพที่พุ่งขึ้นตามหุ้นแอสตราเซเนกาที่ปรับตัวขึ้น 2.48% หลังสหรัฐอนุมัติการใช้ยารักษาโรคเบาหวานของแอสตราเซเนกาเพื่อรักษาอาการหัวใจล้มเหลว แต่ตลาดปรับตัวขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีน
ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,853.76 จุด เพิ่มขึ้น 4.34 จุด หรือ +0.07%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (6 พ.ค.) ทำสถิติปิดในแดนลบเป็นวันแรกในรอบ 6 วันทำการ เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด แม้มีรายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้นน้อยกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์และการผลิตน้ำมันดิบปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ตาม
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 57 เซนต์ หรือ 2.3% ปิดที่ 23.99 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 1.25 ดอลลาร์ หรือ 4% ปิดที่ 29.72 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงหลุดจากระดับ 1,700 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (6 พ.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และจากการที่นักลงทุนเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากมีรายงานว่า รัฐต่างๆในสหรัฐได้เริ่มกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 22.1 ดอลลาร์ หรือ 1.29% ปิดที่ 1688.5 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 9.5 เซนต์ หรือ 0.63% ปิดที่ 15.015 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 19.2 ดอลลาร์ หรือ 2.45% ปิดที่ 765.5 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 2.40 หรือ 0.1% ปิดที่ 1,758.90 ดอลลาร์/ออนซ์
สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (6 พ.ค.) หลังจากมีรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีขีดเส้นตายเป็นเวลา 3 เดือนให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ชี้แจงการซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ QE
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0803 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0851 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2344 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2450 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6415 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6457 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9749 ฟรังก์ จากระดับ 0.9717 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.4121 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.4025 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 106.07 เยน จากระดับ 106.49 เยน