MTC เล็งทบทวนแผนงาน หลังมอง “โควิด-19” กระทบดีมานด์ไตรมาส 2/63
MTC เล็งทบทวนแผนงาน หลังมอง “โควิด-19” กระทบดีมานด์ไตรมาส 2/63
นายปริทัศน์ เพชรอำไพ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมจะทบทวนแผนงานในปีนี้อีกครั้งหลังสิ้นไตรมาส 2/63 แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มคลี่คลาย และภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ แต่บริษัทก็ยังต้องติดตามสถานการณ์ด้วยความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้บริษัทยังคงเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อในปีนี้ไว้ที่เติบโต 20-25% และคงเป้าหมายขยายสาขาอย่างต่อเนื่องไปถึงสิ้นปีให้เป็น 4,700 สาขา จากปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 4,294 สาขา
ทั้งนี้ ภาพรวมของผลการดำเนินงานไตรมาส 1/63 สามารถทำออกมาได้ตามเป้าหมาย และยังเห็นการเติบโตของสินเชื่อ รายได้ และกำไรมากกว่า 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากนช่วงแรกของปีนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 มากนัก แต่ในช่วงไตรมาส 2/63 เชื่อว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนมากขึ้น
นายปริทัศน์ กล่าวว่า ปัจจัยที่เกิดจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบมายังบริษัท ได้แก่ การเลื่อนวันหยุดสงกรานต์ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งโดยปกติในช่วงเดือนเม.ย.และวันหยุดสงกรานต์จะมีความต้องการใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้นจากการจัดงานเทศกาล อีกทั้งยังมีการเลื่อนเปิดเทอมไปเป็นต้นเดือน ก.ค. 63 ทำให้ความต้องการใช้สินเชื่อเพื่อจ่ายค่าเทอมในช่วงปกติที่เคยเกิดขึ้นในเดือนพ.ค.ถูกเลื่อนออกไปด้วย
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นคาดว่าในช่วงเดือน พ.ค.นี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน และเกษตรกรกลับมาทำการเกษตร จะทำให้มีความต้องการสินเชื่อเพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์การเกษตรต่าง ๆ จะเข้ามาช่วยหนุนธุรกิจของบริษัท แต่ในภาพรวมไตรมาส 2/63 บริษัทยอมรับว่าภาพรวมผลการดำเนินงานคงจะชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/63 และช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายปริทัศน์ กล่าวอีกว่า ณ สิ้นไตรมาส 1/63 บริษัทมีสินเชื่อรวมอยู่ที่ 6.25 หมื่นล้านบาท ซึ่งในปีนี้จะเน้นการปล่อยสินเชื่อรถจักรยานยนต์เป็นพิเศษ เพราะมองว่าเป็นประเภทสินเชื่อที่สร้างความยั่งยืนและได้รับผลตอบแทนที่ดี โดยขณะนี้บริษัทมีสัดส่วนสินเชื่อรถจักรยานยนต์สูงถึง 34.05% ของพอร์ตสินเชื่อรวม
ส่วนการเก็บเงินจากลูกหนี้ของบริษัทยังมีการบริหารจัดการได้ดี โดยบริษัทมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยการพักชำระหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าเข้ามาตรการช่วยเหลือแล้ว 140,000 ราย วงเงินรวม 1 แสนล้านบาท ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปีนี้คาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ 1.18% ใกล้เคียงกับไตรมาส 1/63 ขณะที่บริษัทไม่ได้กังวลการตั้งสำรองฯ เพราะสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานบัญชี TFRS9 อยู่แล้ว ซึ่งปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 200%
นายปริทัศน์ เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมขอวงเงินสินเชื่อซอฟท์โลนจากธนาคารออมสินวงเงินราว 5 พันล้านบาท เพื่อนำมาใช้รองรับในการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับลูกค้าของบริษัท และยังเตรียมออกหุ้นกู้มูลค่า 4 พันล้านบาทในช่วงต้นเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อนำเงินมาใช้รองรับการปล่อยสินเชื่อ โดยในสัปดาห์หน้าบริษัทจะเริ่มทำการตลาดการขายหุ้นกู้ของบริษัท
ขณะที่อาคารสำนักงานแห่งใหม่ของบริษัทคาดว่าจะเริ่มเปิดใช้บริการได้ในช่วงเดือนมิ.ย.หรือก.ค.นี้