CPF เงินสดหนา! เล็งซื้อกิจการในสหรัฐ เชื่อปี 63 ผลงานนิวไฮ รับกำไร Q1 โตแรง
CPF เงินสดหนา! เล็งซื้อกิจการในสหรัฐ เชื่อปี 63 ผลงานนิวไฮ รับกำไร Q1 โตแรง
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสิรฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เปิดเผยว่า แนวโน้มภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 63 คาดว่าจะทำสถิติสูงสุดใหม่ (New High) หลังจากผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 1/63 สามารถทำสถิติสูงสุดใหม่ และทำได้ดีกว่าที่บริษัทคาดการณ์ไว้ โดยมีกำไรสุทธิแตะ 6 พันล้านบาทภายในไตรมาสเดียว เมื่อเทียบกับระดับปกติที่จะมีกำไรไตรมาสละ 4 พันล้านบาท
สำหรับปัจจัยหนุนภาพรวมการเติบโตของปีนี้มาจากราคาเนื้อหมูและเนื้อไก่ที่ดีขึ้น โดยราคาเนื้อหมูปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากจากผลของโรคระบาด ASF (Afican Swine Flu) ที่เกิดขึ้นในจีน เวียดนาม และกัมพูชา ทำให้ซัพพลายเนื้อหมูลดลงอย่างมาก ซึ่งหมูในฟาร์มติดเชื้อและตายไปกว่า 20 ล้านตัว ในขณะที่ดีมานด์ยังมีอยู่เท่าเดิม ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 70,000 ดอง จากเดิมที่ 46,000-47,000 ดอง
ทั้งนี้บริษัทยังมองว่าหากยังไม่มีวัคซีนรักษาโรค ASF ที่เกิดขึ้นกับหมูได้ภายในปีนี้ แนวโน้มราคาเนื้อหมูจะยังคงขยับเพิ่มขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง เพราะซัพพลายจะหายไปจากตลาดค่อนข้างมาก และผู้เลี้ยงรายย่อยไม่กล้าเข้ามาลงทุนเพิ่ม เพราะมีความเสี่ยงสูง เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีระบบการป้องกันที่ดีกว่า จึงเชื่อว่าซัพพลายเนื้อหมูจะยังไม่กลับมาเท่าเดิมเหมือนกับช่วงก่อนเกิดโรค ASF
ส่วนราคาเนื้อไก่เริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/63 หลังจากที่มีการปิดโรงงานผลิตเนื้อไก่หลายแห่งในช่วงไตรมาส 1/63 เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาเนื้อไก่ฟื้นตัวขึ้นจากช่วงต้นปีที่ราคาตกต่ำ
นอกจากนี้ ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ในปี 63 มีแนวโน้มลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะราคาข้าวโพดที่ปัจจุบันลดลงมาเหลือ 8.80 บาท/กิโลกรัม จากเดิมที่ 10 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากปริมาณซัพพลายใน 2 ประเทศใหญ่ คือ สหรัฐฯ และบราซิล ออกมาเป็นจำนวนมาก หลังจากโรงเชือดหมูและไก่ในสหรัฐฯและบราซิลปิดตัวไปมากจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มระบาดรุนแรงขึ้น ในขณะที่ภาคการเกษตรยังทำงานตามปกติ ทำให้ซัพพลายล้นตลาด ส่งผลบวกให้ราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ลดลง
ดังนั้น จึงคาดว่าผลการดำเนินงานในปีนี้จะเติบโตขึ้นอย่างโดดเด่น และจาก 3 ปัจจัยหลักที่เป็นปัจจัยสนับสนุนส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้ทำ New High ได้ ทั้งนี้จากผลการดำเนินงานไตรมาสแรกที่ออกมาทำนิวไฮในประวัติศาสตร์ ทำให้ค่อนข้างมั่นใจว่าผลการดำเนินงานทั้งปีนี้มีโอกาสจะทำนิวไฮได้ ทำให้แผนที่ตั้งเป้ายอดขายโต 8-10% ในปีนี้ค่อนข้างมั่นใจทำได้ และมองว่าไม่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมาย 5 ปี (62-66) ที่ตั้งเป้ารายได้ 8 แสนล้านบาท
ส่วนผลงานไตรมาส 2/63 มองว่าอาจจะชะลอตัวลงจากไตรมาส 1/63 เพราะรับผลกระทบของการล็อกดาวน์ในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ในเดือนพ.ค.ก็เริ่มกลับมาดีขึ้นบ้าง ซึ่งหากเทียบกับไตรมาส 2 ปีก่อนยังมองว่าดีกว่าแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้บริษัทต้องมีการชะลอแผนการลงทุนที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน เพื่อรอดูเหตุการณ์ให้ชัดเจนอีกครั้ง โดยปรับลดงบลงทุนในปีนี้ลงมาเหลือต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ตั้งไว้ 2.5 หมื่นล้านบาท หลังจากบริษัทใช้งบลงทุนในไตรมาส 1/63 ไปเพียง 6 พันล้านบาท ทำให้แนวโน้มการใช้งบลงทุนในปีนี้จะลดลงอย่างแน่นอน และบางส่วนจะนำไปใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและลงทุนด้านดิจิทัลแทน เพื่อเพิ่มความสามารถให้กับโรงงานของบริษัท
อย่างไรก็ตามบริษัทด็ยังมองหาโอกาสใหม่ในการลงทุนที่สามารถต่อยอดธุรกิจที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ โดยอยู่ระหว่างการศึกษาการเข้าซื้อกิจการโรงงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์เนื้อหมูทางตอนเหนือของสหรัฐฯ เพื่อต่อยอดโรงงานเนื้อหมูในแคนาดาที่บริษัทได้ซื้อเข้ามาก่อนหน้านี้ และเริ่มมีรับรู้กำไรเข้ามาแล้วตั้งแต่ไตรมาส 1/63
ทั้งนี้ บริษัทยังความสามารถในการลงทุน เพราะปัจจุบันมีกระแสเงินสดในมือสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 7.9 หมื่นล้านบาท และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกหากผลการดำเนินงานยังดีต่อเนื่อง พร้อมกันนั้นยังมีแผนนำกระแสเงินสดไปบริหารจัดการหนี้สินให้ต้นทุนดอกเบี้ยลดลง ซึ่งขณะนี้ต้นทุนดอกเบี้ยลดลงมาเหลือ 3.5% จากเดิม 3.9% และยังออกหุ้นกู้เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอน โดยจะเสนอขายในช่วงต้นเดือน มิ.ย. 63 เป็นหุ้นกู้อายุ 4-15 ปี อัตราดอกเบี้ย 3-4% วงเงินราว 1 หมื่นล้านบาท
ส่วนดีลการซื้อดีลการซื้อกิจการเทสโก้ เอชีย ในไทยและมาเลเซีย ของกลุ่มซีพี โดย CPF ทำดีลผ่านบริษัทลูกที่ถือหุ้นในบริษัทโฮลดิ้งที่เข้าซื้อในสัดส่วน 20% หรือคิดเป็นเงินลงทุน 4.8 หมื่นล้านบาท บริษัทคาดว่าดีลดังกล่าวจะเสร็จสิ้นในปี 63 แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (OTCC) ของไทยและมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้ส่งข้อมูลให้กับ OTCC ทั้งไทยและมาเลเซียพิจารณาแล้ว แต่หากการพิจารณามีความล่าช้าอาจส่งผลต่อระยะเวลาปิดดีลต้องเลื่อนออกไปเป็นปี 64
สำหรับตามแผนระยะ 5 ปี (ปี 62-66) บริษัทเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินทรัพย์ของบริษัท พร้อมกับการขยายสัดส่วนยอดขายในต่างประเทศให้เพิ่มเป็น 75% จากปัจจุบันที่ 67% เพื่อตอกย้ำวิสัยทัศน์”ครัวของโลก” ที่บริษัทได้ตั้งเป้าหมายไว้ โดยปัจจุบันบริษัทมีโรงงานและสำนักงานใน 17 ประเทศ และส่งออกสินค้าไปจำหน่ายมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก สัดส่วนรายได้หลักกว่า 76% ของรายได้รวมจะมาจากการขายสินค้าในประเทศไทย เวียดนาม และจีน