“อุตตม” ลงฟังปัญหาปชช. ร้องเรียนเงินเยียวยา 5 พัน ยัน “คลัง” ดูแลครอบคลุม วอนใจเย็นๆ
"อุตตม" ลงพื้นที่รับฟังปัญหา ปชช.ร้องเรียน เงินเยียวยา 5 พัน ยัน "คลัง" พร้อมดูแลครอบคลุม วอนใจเย็นๆ
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางไปที่จุดตั้งโต๊ะร้องเรียนการรับเงินเยียวยา 5,000 บาท จากการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เป็นวันสุดท้าย และได้พบปะกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ไม่ได้เงิน 5,000 บาท พร้อมชี้แจงกับผู้ที่มาร้องเรียนว่าขอให้ใจเย็นๆ เพราะกระทรวงการคลัง พร้อมจะดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน
โดยนายอุตตม กล่าวว่า วันนี้ได้มีโอกาสมาเยี่ยมศูนย์รับเรื่องของกระทรวงการคลัง สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และต้องการให้รัฐบาลช่วยดูแลเยียวยา ซึ่งก็มากันหลายกลุ่ม โดยกระทรวงการคลังได้เปิดทำการมาระยะหนึ่งแล้ว ขอขอบคุณกรมประชาสัมพันธ์ที่เอื้อเฟื้อให้ใช้สถานที่
สำหรับวันนี้คาดว่ามีประชาชนเดินทางมาราว 7,000-8,000 คน ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์ กรมกองต่างๆ ที่ช่วยกันให้คำปรึกษารับเรื่องที่ประชาชนมาร้องเรียน
“ผมคิดว่า มาตรการดูแลเยียวยาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะดูแลประชาชนได้ครบทุกกลุ่มครอบคลุมมากที่สุด ดังนั้นการเปิดรับเรื่อง ก็จะดูว่าเรื่องไหนที่ตรงกับกระทรวงการคลังดูแล เช่น อาชีพอิสระ คลังก็จะดำเนินการช่วยเหลือโดยเร็ว แต่มีบางเรื่องที่เกี่ยวกับกระทรวงอื่นดูแลอยู่ ก็ไม่ต้องห่วง คลังก็จะประสานให้หน่วยงานที่ดูแล ช่วยเหลือประชาชนต่อไป” นายอุตตม กล่าว
พร้อมกันนี้ยืนยันว่า กระทรวงการคลังจะพยายามช่วยเหลือเต็มที่ เพราะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยประสบปัญหาไวรัสโควิด-19 โดยกระทรวงฯ พยายามเตรียมการดีที่สุด และรับเรื่องต่อเนื่อง หวังว่าจะทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนที่มาร้องเรียนมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม การรับร้องเรียนที่กรมประชาสัมพันธ์วันนี้เป็นวันสุดท้าย และตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.เป็นต้นไปได้ประสานกับธนาคารรัฐ เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้จัดพื้นที่ในสาขาทั่วประเทศ รับเรื่องร้องทุกข์ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 29 พ.ค.63
สำหรับสาเหตุที่ยังมีประชาชนมาร้องเรียนนั้น ส่วนใหญ่มีปัญหาการลงทะเบียนแล้วเงินยังเข้าบัญชีธนาคารไม่ได้ มีปัญหาเรื่องการผูกบัญชีพร้อมเพย์ไม่เรียบร้อย ซึ่งผู้ที่จะช่วยเหลือได้ดีที่สุด คือเจ้าหน้าที่ของธนาคาร ดังนั้น จึงต้องการให้ประชาชนเดินทางไปให้ที่ธนาคารโดยตรง แต่หากเป็นปัญหาเรื่องอื่นๆ ก็สามารถยื่นเรื่องฝากไว้ได้ รัฐบาลจะไม่ทอดทิ้ง
ส่วนการลงทะเบียนจะมีกลุ่มถูกตัดสิทธิมากหรือไม่นั้น นายอุตตม กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังประมวลข้อมูลการลงทะเบียนใกล้สิ้นสุดแล้ว พบว่ามีผู้ได้รับสิทธิ์ 14 ล้านคน การทยอยจ่ายเงินเกือบครบทั้ง 14 ล้านคนแล้ว หากไม่ได้รับเงิน 5,000 บาทของการลงทะเบียนในมาตรการนี้ ก็ต้องไปดูว่าเข้ากับมาตรการอื่นหรือไม่ เช่น การช่วยเหลือในส่วนของเกษตรกร หรือการช่วยเหลือในส่วนของแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม เป็นต้น
ขณะที่กลุ่มที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จกว่า 1.7 ล้านคน เป็นเพราะมีประชาชนจำนวนมากที่ลงชื่อไม่ตรงกับบัตรประชาชน ดังนั้น จะทวนอีกครั้ง พิจารณาเป็นรายกรณีว่าจะได้รับเงิน 5,000 บาทหรือไม่ ถ้าตรงสิทธิ์ตามเกณฑ์ก็จะได้รับเงิน
“กรณี 1.7 ล้านคนดำเนินการได้เร็วไม่ช้า ซึ่งตอนนี้เหลือแค่ 1.1 ล้านคน เพราะส่วนหนึ่งเป็นหัวหน้าเกษตรกร ซึ่งได้ส่งชื่อไปให้กระทรวงเกษตรดำเนินการทันที ส่วนจะจ่ายเดือนที่ 4-6 หรือไม่ยังตอบไม่ได้ เป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตามดูอยู่ และเป็นเรื่องที่รัฐบาลตัดสินใจ และดูงบประมาณประกอบด้วย ทำให้ตอบไม่ได้ว่าจะให้ต่อหรือไม่ และจะเป็นการช่วยเหลือรูปแบบไหน” นายอุตตม ระบุ
นอกจากนี้ นายอุตตม ยังกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งให้ติดตามการเยียวยา โดยได้ตั้งคณะทำงานที่มาจาก 10 ปลัดกระทรวงมาดูแล ซึ่งจะพิจารณาเรื่องงบประมาณประกอบด้วย วันนี้มีการใช้เงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ แจกเกษตรกร ใช้เงิน 1.5 แสนล้านบาท
ส่วนโครงการเราไม่ทิ้งกัน 15-16 ล้านคน ใช้เงิน 2.4 แสนล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นงบประมาณ 7 หมื่นล้านบาท เป็นเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1.7 แสนล้านบาท และยังมีอีกส่วนหนึ่งเป็นแรงงาน 10-11 ล้านคน ซึ่งระบบประกันสังคมดูแลอยู่ ทำให้ในภาพรวมแล้วจะมีประชาชนที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลแล้ว 36 ล้านคน แต่ก็ยังไม่ครบ เพราะมีบางคนที่ยังไม่เข้าเกณฑ์ของ 3 กลุ่มดังกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังกำลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่ตกหล่นว่าจะมีมาตรการใดเข้ามาเสริม แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นการแจกเงิน 5,000 บาท (3 เดือน) เช่น กลุ่มชายขอบ กลุ่มเปราะบาง ซึ่งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็ดูแลอยู่ อีก 10 กว่าล้านคน ทำให้ทั้งหมดแล้ว รัฐบาลดูแลเยียวยาประชาชนถึง 40-50 ล้านคน โดยจะใช้งบประมาณราว 3.5 แสนล้านคนจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ยังเหลือเงินอีก 2 แสนกว่าล้านบาท ในส่วน 6 แสนล้านบาทที่ใช้เยียวยา ก็ต้องเก็บไว้เพื่อดูแลเยียวยาภาคผู้ประกอบการด้วย