“คนภูมิใจไทย” นำร่องชี้เป้า 23 ความเสี่ยง “บินไทย” ต้องเร่งอุดเพื่อฟื้นฟู ก่อนเข้าศาลล้มฯ

เพจเฟซบุ๊ก "คนภูมิใจไทย" เผยแพร่ 23 ความเสี่ยง "การบินไทย" ต้องเร่งอุดเพื่อฟื้นฟู ก่อนเข้าสู่กระบวนการศาลล้มละลาย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หารือร่วมกับ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอแผนฟื้นฟูการบินไทย เข้าที่ประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสากิจ (คนร.) ในวันนี้ (18 พ.ค.)

ทางด้านเพจเฟซบุ๊ก “คนภูมิใจไทย” ซึ่งเป็นเพจที่รายงานความเคลื่อนไหวของรัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้เผยแพร่ปัจจัยเสี่ยงที่จำเป็นต้องแก้ไขและปรับปรุงโครงสร้างองค์กรการบินไทยใหม่ ก่อนเข้าสู่กระบวนการของศาลล้มละลาย เพื่อขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งระบุทั้งหมด 23 ข้อ ดังนี้

1.ปรับปรุงข้อมูลการซ่อมบำรุงที่เดิมอาจทำไม่ครบถ้วน รวมถึงการขายเครื่องบิน และเครื่องยนต์จึงต้องมีการวิเคราะห์เพิ่มเติม

2.ปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางการบิน เริ่มจากเส้นทางบินระยะยาว การบริหารจัดการเส้นทางบินที่ไม่ทำกำไร หรือ ไม่มีเครื่องบินที่ต้องการนำไปบริการในเส้นทางที่มีศักยภาพมากกว่า

3.ปรับปรุงแผนบริหารจัดการฝูงบิน รวมถึงแผนการขายเครื่องบินซึ่งปัจจุบันมีผู้สนใจเสนอราคาซื้อที่ต่ำมาก

4.ปรับปรุงกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์ การต่อต้านของกลุ่มมาเฟียเดิม และหรือ ผู้แทนจำหน่ายที่เสียผลประโยชน์จากการขายบัตรโดยสารแบบ Single Price

5.ปรับปรุงการปฏิบัติงานและต้นทุนกระบวนการทำงานด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินการดังกล่าวไม่เป็นไปตามแผน และผู้บริหารระดับสูงไม่สามารถเข้าใจระบบการจัดการด้านนี้

6.ปรับปรุงการปฏิบัติการและบริหารต้นทุนเพื่อสร้างประสิทธิภาพของฝ่ายช่าง และปรับรูปแบบให้รองรับการดำเนินธุรกิจให้เป็นเชิงพาณิชย์นำเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในฝ่ายช่าง

7.ปรับปรุงการปฏิบัติการ และบริหารต้นทุนโดยออกแบบโครงสร้างการซ่อมบำรุงใหม่ให้รองรับการให้บริการเชิงพาณิชย์ของธุรกิจอุตสาหกรรมการบินในระดับสากล

8.โครงการตามกลยุทธ์ด้านการปรับปรุงการปฏิบัติการและต้นทุน ปรับปรุงประสิทธิภาพฝ่ายช่างและปรับรูปแบบให้รองรับ การดำเนินธุรกิจให้เป็นเชิงพาณิชย์ การปรับเปลี่ยนผลตอบแทนการทำงานตามระดับผลิตภาพ Pay Per Productivity ของฝ่ายช่าง

9.ปรับกลยุทธ์การปฏิบัติงาน และบริหารต้นทุนของฝ่ายช่างให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยให้ปรับรูปแบบให้สามารถรองรับการดำเนินธุรกิจให้เป็นเชิงพาณิชย์ การบริหารการเปลี่ยนแปลง และสร้างแรงจูงใจแก่บุคคลากรได้

10.ปรับปรุงการปฏิบัติการ และบริหารต้นทุนในการพัฒนาความร่วมมือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานอื่นๆ

11.ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้กระชับ

12.ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรโดยเฉพาะจำนวนพนักงานให้สอดคล้องกับกำลังการผลิต

13.ปรับกลยุทธ์ด้านการจัดกลุ่มธุรกิจของบริษัทเริ่มตั้นแต่ฝ่ายช่าง : ปรับปรุงธุรกิจการซ่อมบำรุงอากาศยานเชิงพาณิชย์สนามบินสุวรรณภูมิ และ สนามบินดอนเมือง

14.จัดกลุ่มธุรกิจของบริษัทในฝ่ายช่าง : ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์ซ่อม เครื่องบินลำตัวกว้าง

15.จัดกลุ่มธุรกิจฝ่ายบริการภาคพื้น ปรับรูปแบบกระบวนการทำงานของพนักงานในฝ่ายภาคพื้น

16.จัดกลุ่มธุรกิจฝ่ายบริการภาคพื้นโดยปรับปรุงบริการห้องรับรองพิเศษ และห้องฉุกเฉินในภาวะไม่ปกติ

17.จัดทำกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจการพาณิชย์สินค้าและไปรษณีย์ภัณฑ์

18.จัดกลุ่มธุรกิจการพาณิชย์สินค้าและไปรษณีย์ภัณฑ์

19.ศึกษาแนวทางการดำเนินธุรกิจในอนาคตของ กลุ่ม Business Unit ใหม่

20.เพิ่มประสิทธิภาพครัวการบินเพื่อให้ผลการดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะในการเสิร์ฟอาหารร้อนบนเครื่องบิน

21.ทำครัวการบินไทยให้เป็น Smart Kitchen 4.0

22.จัดกลุ่มธุรกิจของครัวการบิน ณ ท่าอากาศยานเชียงใหม่

23.จัดครัวการบินไทยสาขาต่างๆ ใหม่เพื่อสามารถทำกำไรให้สูง

Back to top button