“สภาพัฒน์” กาง GDP ไตรมาสแรก ปี 63 หด 1.8% ตามภาพรวมศก.ชะลอตัว คาดทั้งปี ติดลบถึง 6%

"สภาพัฒน์" กาง GDP ไตรมาสแรก ปี 63 หด 1.8% ตามภาพรวมศก.ชะลอตัว คาดทั้งปี ติดลบถึง 6%


นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาสที่ 1/2563 ลดลง 1.8% เทียบกับการขยายตัว 1.5% ในไตรมาสที่ 4/62 จากตลาดคาด -4.5% ถึง -3.8%

โดยด้านการใช้จ่ายการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลง การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนภาครัฐและเอกชนปรับตัวลดลง และการส่งออกรวมปรับตัวลดลงตามการส่งออกบริการที่ปรับตัวลดลงมาก ในขณะที่การส่งออกสินค้าขยายตัว

ด้านการผลิต การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาอุตสาหกรรม สาขาเกษตรกรรม สาขาการขนส่ง และสาขาก่อสร้าง ปรับตัวลดลง

ขณะที่การผลิตสาขาการขายส่งและการขายปลีก สาขาการผลิตสาขาไฟฟ้า และก๊าซ สาขาการเงินและการประกันภัย และสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารขยายตัว เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2563 ลดลง 2.2% จากไตรมาส 4/62 (QoQ_SA)

นอกจากนี้ยังคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 63 จะปรับตัวลดลง -6.0 ถึง -5.0% เนื่องจากการปรับตัวลดลงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก, การลดลงรุนแรงของจำนวนและรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ, การระบาดของโรคโควิด-19 และปัญหาภัยแล้ง

โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะปรับตัวลดลง -8.0% การบริโภาคภาคเอกชนและการลงทุนรวม ปรับตัวลดลง -1.7% และ -2.1% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง -1.5% ถึง -0.5% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4.9% ของ GDP

ทั้งนี้ นายทศพร กล่าวถึงการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 63 ควรให้ความสำคัญกับ การประสานนโยบายการเงินการคลังเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงการลดลงอย่างรุนแรงของรายได้จากการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก รวมทั้งเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเพื่อสร้างความมั่นใจว่าภาคธุรกิจมีความพร้อมในการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังการระบาดของโรคโควิด-19 และเงื่อนไขข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจผ่อนคลายลง ดังนี้

การผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และข้อจำกัดการเดินทาง ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรัดกุม และดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนให้พฤติกรรมในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจสามารถปรับตัวเข้าสู่ระดับใกล้เคียงภาวะปกติ รวมทั้งสามารถปรับตัวสอดคล้องกับมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของภาครัฐ และการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคและรูปแบบการประกอบธุรกิจที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด-19

การให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้าเพื่อไม่ให้การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงรุนแรงมากเกินไป รวมทั้งเพื่อช่วยลดผลกระทบจากการลดลงของรายได้จากการท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้าในช่วงที่ผ่านมาและได้รับประโยชน์เพิ่มเติมจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในต่างประเทศ ซึ่งทำให้ความต้องการสินค้าบางรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น

การเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้กรอบต่าง ๆ ของภาครัฐ ประกอบด้วย การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 63 ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 90.2% ของวงเงินงบประมาณ โดยเบิกจ่ายรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนได้ไม่ต่ำกว่า 99.0% และ 55.0% ตามลำดับ, การเบิกจ่ายงบประมาณเหลื่อมปีไม่ต่ำกว่า 90.0%, การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่า 75.0% และการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้กรอบพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

การขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนการสร้างศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีและกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง

รวมถึงการเตรียมการรองรับความเสี่ยงสำคัญ ๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปีและในระยะปานกลาง

Back to top button