“อนุทิน” ขอ ปชช. รักษาระยะห่าง-ใส่หน้ากาก รับห่วงติด “โควิด” หลังแห่ไปห้างจนแออัด

"อนุทิน" ขอ ปชช. รักษาระยะห่าง-ใส่หน้ากาก รับห่วงติด "โควิด" หลังแห่ไปห้างจนแออัด


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับรู้สึกเป็นห่วงกรณีประชาชนจำนวนมากแห่ไปใช้บริการในห้างสรรพสินค้า หลังจากที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 2 เมื่อวานนี้ (17 พ.ค.63)​ จนเกิดความแออัด

โดยนายอนุทิน กล่าวย้ำว่า ขอให้ประชาชนดูแลเรื่องสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด เพื่อลดการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยการรักษามาตรการเว้นระยะห่าง หากพื้นที่ไหนมีความเสี่ยงก็ควรหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะในจุดที่เป็นชุมนุมชน การรับประทานอาหารยังต้องแยกสำรับ หมั่นล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัย ทั้งนี้ ภาครัฐพยายามให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตให้ใกล้เคียงปกติที่สุด แต่ประชาชนต้องช่วยกันระมัดระวังตัวเองด้วย

“หากผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าพบว่าร้านไหนไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรการได้ ขอให้พิจารณาปิดไปก่อน ทางภาครัฐให้แนวทางไปหมดแล้ว และไม่อยากบังคับก็ต้องขอความร่วมมือกัน” นายอนุทิน กล่าว

นอกจากนี้ นายอนุทิน ยังกล่าวถึงการยกเลิกประกาศท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พ.ศ.2563 เพิ่มเติมว่า ตนเองไม่มีอำนาจไปสั่งการ ผู้ที่จะเสนอให้ปลดรายชื่อประเทศ คือคณะกรรมการด้านวิชาการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งมีเกณฑ์ในการพิจารณา โดยสามารถปรับเพิ่มหรือปรับลดได้โดยพิจารณาจากปัจจัยเรื่องความเสี่ยง

ทั้งนี้ หากสถานการณ์แพร่ระบาดในประเทศจีนและเกาหลีใต้กลับมามีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นหลักร้อยก็สามารถกลับไปประกาศเป็นเขตโรคติดต่ออันตรายได้อีก ซึ่งทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้หมด และคงไม่ต้องกังวลเพราะยังมีมาตรการห้ามการเดินทางเข้ามาของสายการบิน

ส่วนจะมีการปลดรายชื่อประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนำมาสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือไม่นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งคณะกรรมการฯ จะมีการพิจารณา ขณะเดียวกันก็ต้องมีการเฝ้าระวังไม่ให้มีการลักลอบเข้าประเทศตามแนวชายแดนธรรมชาติ และต้องพิจารณาเหตุผลอื่นๆ ประกอบด้วย

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า หากยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้ว การใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ จะดูแลสถานการณ์ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานสุขอนามัย ได้แก่ การรักษาระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องทำแม้จะไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมถึงช่วงนี้ประชาชนต้องไปฉีควัคซีนไข้หวัดใหญ่ และเฝ้าระวังไข้เลือดออก เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเกิดเคราะห์ซ้ำกรรมซัด

Back to top button