“ธปท.” ชี้รายใหญ่หันกู้แบงก์ แทนระดมทุนผ่านตราสารหนี้ ดันสินเชื่อไตรมาสแรก โตพุ่ง 4.1%

"ธปท." ชี้รายใหญ่หันกู้แบงก์ แทนระดมทุนผ่านตราสารหนี้ ดันสินเชื่อไตรมาสแรก โตพุ่ง 4.1%


นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อานวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1/63 ว่า ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น 4.1% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน

โดยสินเชื่อธุรกิจ (64.8% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวที่ 3.3% ตามความต้องการใช้สินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่ในหลายประเภทธุรกิจที่ส่วนหนึ่งกลับมาใช้สินเชื่อแทนการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ในภาวะที่ตลาดการเงินมีความผันผวน ส่งผลให้สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ 5.3%

ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SME (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) หดตัวเล็กน้อยที่ 0.2% สินเชื่ออุปโภคบริโภค (35.2% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 5.6% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนในทุกประเภทสินเชื่อ ทั้งสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ สอดคล้องกับการลดลงของยอดซื้อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตชะลอตัวลงมากตามการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลยังเติบโตได้ในอัตราที่ค่อนข้างสูง

ขณะที่คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 1/63 ด้อยลงจากสิ้นปี 62 จากผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การจัดชั้นตามมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9

โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-Performing Loan: NPL หรือ stage 3) อยู่ที่ 496.8 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 3.05% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ในระดับ 2.98% ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant increase in credit risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ 7.70%

ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/63 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 52.9 พันล้านบาท หลังหักรายการพิเศษจากรายได้เงินปันผลที่จ่ายระหว่างธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในขั้นตอนการควบรวมกัน โดยลดลง 7.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการกันสำรองที่เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ รายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารยังทรงตัว โดยอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) ลดลงมาอยู่ที่ 1.03% จาก 1.14% ในไตรมาสก่อน

อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) เพิ่มขึ้นจากเปลี่ยนแปลงวิธีการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยตามมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 63 และการปรับลดอัตราเงินนาส่งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institution Development Fund: FIDF) ซึ่งสถาบันการเงินจะดำเนินการส่งผ่านประโยชน์ที่ได้จากการปรับลดด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทต่าง ๆ ให้กับภาคธุรกิจและประชาชนในระยะถัดไป หากไม่รวมผลของการปรับลดเงินนำส่ง FIDF และการปรับมาตรฐานบัญชีใหม่ พบว่า NIM ทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน

ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,836 พันล้านบาท หรืออัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 18.7% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 719.2 พันล้านบาท หรืออัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) ที่143.3% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤติ (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ที่ 185.7%

นายธาริฑธิ์ กล่าวว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคง ระดับเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับความต้องการสินเชื่อและความผันผวนของเศรษฐกิจในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้ ผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลงจากการกันสำรองเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน การเติบโตของสินเชื่อเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินเชื่อของธุรกิจรายใหญ่ ขณะที่คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ได้รับผลกระทบจากการหดตัวของเศรษฐกิจ

สำหรับมาตรการเพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงิน คือ มาตรการการปรับลดเงินนำส่งเข้า FIDF ระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ 1 ม.ค.63-31 ธ.ค.64 โดย ธปท.คาดหวังว่ามาตรการนี้จะช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้สถาบันการเงินได้ประมาณ 60,000 ล้านบาท แต่คงไม่ได้มีผลทำให้สถาบันการเงินมีกำไรเพิ่มขึ้น เพราะหวังว่าสถาบันการเงินจะได้ส่งผ่านต้นทุนทางการเงินที่ลดลงนี้ให้กับลูกหนี้ ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง

นอกจากนี้ นายธาริฑธิ์ ยังกล่าวถึงแนวโน้ม NPL ของธนาคารพาณิชย์ในปี 63 ว่า สถาบันการเงินถือว่าเป็นภาพสะท้อนระบบเศรษฐกิจได้ดีในระดับหนึ่ง ดังนั้นเมื่อระบบเศรษฐกิจแผ่วลง จึงมีความเป็นไปได้ที่ NPL จะปรับสูงขึ้น ส่วนจะปรับขึ้นมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นกับมาตรการที่เข้าไปช่วยเหลือจะเพียงพอหรือไม่ทั้งในส่วนของมาตรการจากภาครัฐ และมาตรการเสริมสภาพคล่องทางการเงิน, การปรับตัวของผู้ประกอบการทำได้มากน้อยเพียงใด รวมทั้งสถาบันการเงินเข้าไปให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด

“นี่เป็น 3 ปัจจัยหลักที่จะบอกได้ว่า NPL จะขึ้นไปสูงเท่าใด ส่วน NPL ปีนี้จะขึ้นไปอยู่ในระดับใดนั้นคงยากที่จะตอบได้ เพราะต้องขึ้นกับ 3 ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจในประเทศและนอกประเทศด้วย” นายธาริฑธิ์ ระบุ

ส่วนยอด NPL ในกลุ่มสินเชื่อบ้านที่ยังเพิ่มขึ้นนั้น ยอมรับ ธปท.มีความกังวลแต่ไม่ได้มากนัก เพราะส่วนหนึ่งเกิดจากการแข่งขันที่สูงในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ขณะนี้การแข่งขันได้แผ่วลงแล้ว รวมทั้งความตึงตัวของภาระหนี้ภาคครัวเรือน แต่เมื่อเริ่มมีสภาพคล่องกลับเข้ามาก็จะเข้ามาชดเชยในส่วนนี้ได้ ดังนั้นแม้จะมีความกังวล แต่เชื่อว่าจะสามารถบริหารจัดการได้

ส่วนการจะปรับเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ (LTV) ให้มีความผ่อนคลายลงนั้น ธปท.ยังเห็นว่าเกณฑ์ LTV ในปัจจุบันไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อ Real Demand ในส่วนของผู้ที่ต้องการซื้อบ้านหลังแรก ในขณะที่ผู้ที่ต้องการซื้อบ้านหลังที่สอง ธปท.ก็ได้มีการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ลงให้แล้ว ซึ่ง ธปท.จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักและพิจารณาให้มีความรอบคอบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ท่ามกลางภาวะคุณภาพหนี้ครัวเรือนที่ยังด้อยลง

ขณะที่การประเมินการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งปีนี้ นายธาริฑธิ์ ระบุว่า สินเชื่อปีนี้จะเติบโตในระดับใดอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะประเมิน แต่จากข้อมูลที่ได้รับทราบมาคาดว่าผู้นำภาคธุรกิจหลายรายจะมีการขอใช้สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่เพิ่มเติม

Back to top button