ตลท.ชี้ “โควิด” ทำ “สายการบิน” เจ็บหนัก! เสี่ยงเห็นควบรวม-ล้มละลายหลายแห่ง
ตลท.ชี้ "โควิด" ทำ "สายการบิน" เจ็บหนัก! เสี่ยงเห็นควบรวม-ล้มละลายหลายแห่ง
นายกฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีความรุนแรง ทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องมีมาตรการออกมาควบคุมและปิดกั้นการแพร่ระบาด รวมถึงการปิดน่านฟ้าในหลายประเทศ ซึ่งมีการควบคุมการเดินทางทางอากาศจนถึงขั้นการสั่งสายการบินต่าง ๆ หยุดบิน หรือจำเป็นต้องหยุดบิน เพราะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบิน และทำให้ธุรกิจสายการบินต้องปรับตัวอย่างมาก
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีการผ่อนคลายแล้วก็ยังมีผลกระทบต่อรูปแบบการเดินทางในอนาคต ซึ่งการเดินทางหลังการผ่อนคลายมาตรการลงในภาวะที่ยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาโควิด-19 ถือเป็นสภาวะ New Normal ของการเดินทาง ทำให้ธุรกิจสายการบินต้องปรับตัวต่างไปจากเดิมอย่างมาก และส่งผลกระทบมาถึงภาพรวมของธุรกิจสายการบินที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนหลังจากนี้
โดยสิ่งแรกที่คาดว่าจะพบเจอได้หลังจากผ่านภาวะวิกฤติไป คือ การควบรวมกิจการสายการบินจะมีมากขึ้น เพราะการลดการเดินทางแบบฉับพลันทันทีและเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน ทำให้เกิดภาวะการช็อคครั้งสำคัญที่อุตสาหกรรมการบินไม่เคยพบมาก่อน ส่งผลลบรุนแรงต่อรายได้ กำไร และสถานะการเงินของสายการบินต่าง ๆ เนื่องจากธุรกิจการบินเป็นธุรกิจที่มีการลงทุนสูง ในขณะที่การแข่งขันที่รุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีมาร์จิ้นต่ำ
ทั้งนี้ สายการบินใดที่แต่เดิมมีสภาพที่ค่อนข้างแย่และลำบากอยู่แล้ว ในรอบนี้มีการคาดการณ์ว่าจะได้เห็นธุรกิจการบินต้องล้มละลายไปอีกจำนวนมาก และจะมีการปรับตัวโดยการกดดันจากเจ้าหนี้อย่างมาก เนื่องจากเจ้าหนี้กลัวจะเป็นหนี้เสียก้อนใหญ่ และไม่อยากให้ล้มไป เพราะการที่มีสายการบินยังคงมีความจำเป็นต่อการเดินทางภายในและระหว่างประเทศ แต่ก็จะต้องมีการบังคับให้ลดขนาดกิจการเดิมลงมาแบบรุนแรง เพื่อลดค่าใช้จ่ายและสนับสนุนให้ควบรวมกิจการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ หากในแต่ละประเทศมีสายการบินในจำนวนที่มากเกินไป
ขณะที่ความต้องการการเดินทางที่มีแนวโน้มลดลง ในช่วงเวลาที่ยังต้องอยู่กับโควิด-19 ผู้โดยสารจะมีการปรับพฤติกรรมการเดินทาง โดยลดความถี่ในการเดินทางเพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อยอดขายของสายการบิน อีกทั้งจำนวนที่นั่งของเครื่องบินก็จะต้องลดลงเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคมตามข้อกำหนด ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อรายได้
สำหรับแนวทางการรักษารายได้ของสายการบิน อาจเลือกใช้การขึ้นค่าโดยสาร แต่จะส่งผลให้ลูกค้าลดการเดินทางโดยไม่จำเป็น ซึ่งธุรกิจสายการบินจึงต้องปรับตัวอย่างมาก ในการสร้างสมดุลจากรายได้ที่อาจเติบโตได้ยาก กับต้นทุนที่สูงและต้องบริหารจัดการเพื่อให้อยู่รอด
พร้อมกับสิ่งที่ต้องทำไปควบคู่กันในช่วงที่ยังไม่มีวัคซีนมารักษาโควิด-19 คือ การดูแลความปลอดภัยทางด้านสุขภาพของผู้โดยสารที่จะมีมากขึ้น ซึ่งกลายเป็นความปกติใหม่ที่ก่อนบิน ระหว่างบิน และถึงจุดหมายปลายทางจะมีมาตรการเข้มข้นในการตรวจอุณหภูมิ การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า การเตรียมจุดแอลกอฮอล์ให้ล้างมืออยู่ในบริเวณท่าอากาศยานและบนเครื่องบิน ทำให้ต้องเพิ่มระบบหรือกระบวนการในการทำงาน และมีต้นทุนทั้งเรื่องเวลา และค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น และทำให้เกิดแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่ใช้ตรวจสอบ ติดตามผู้โดยสาร เพราะหากมีการแพร่เชื้อจะได้สามารถติดตามแก้ไขการระบาดได้ทันที
สำหรับผู้ประกอบการท่าอากาศยานยังต้องการเพิ่มความสำคัญในการเป็นศูนย์กลางมากขึ้น ซึ่งในยุคที่ผ่านมา เมืองต่างๆไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ พยายามจัดให้มีสนามบินที่เมืองของตน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน แต่ในระยะต่อไปหากความถี่ในการเดินทางลดลง สนามบินของเมืองเล็กจะลดบทบาทลง ส่วนสนามบินเมืองใหญ่ที่เป็น Hub จะได้รับความสำคัญมากขึ้นในการเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อโดยรถยนต์ หรือรถไฟความเร็วสูงไปยังเมืองอื่นๆ
โดยทำให้การบินไปยัง Hub ยังคุ้มค่ากว่าเพราะมี Aircraft load factor ที่สูงกว่า อย่างไรก็ตามท่าอากาศยานเหล่านี้ก็จะต้องเตรียมรองรับผู้โดยสารที่จะต้องใช้เวลามากขึ้นในการตรวจ และพื้นที่ที่ต้องนั่งห่างๆกัน อาจเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจเกี่ยวกับ VIP Lounge หรือกลุ่มลูกค้าเป้าหมายชั้นธุรกิจได้มากขึ้น
นอกจากนี้จะเห็นการขยายตัวของรายได้จากบริการรูปแบบใหม่ ๆ อย่างในกลุ่ม Low-cost airline เช่น Ryanair ที่พยายามปรับตัวจากเหตุการณ์วิกฤติโควิด-19 ได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้โดยสารระหว่างเดินทาง เช่น การจำหน่ายหน้ากากอนามัยให้ลูกค้า หากลูกค้าลืมนำมาเอง เพราะเป็นข้อกำหนดที่ผู้โดยสารทุกคนต้องสวมหน้ากาก หรือการนำเสนอสินค้าที่ลูกค้าจำเป็นต้องใช้ เช่น ถุงมือ เจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ และอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องที่ช่วยให้เกิดความปลอดภัยทางสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งอาจกลายเป็นรายได้บริการในรูปแบบอื่นๆนอกเหนือจากรายได้ค่าโดยสาร
สำหรับการหมดยุคของเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ หลังจากมีข่าวว่าสายการบิน Lufthansa กำลังจะเอาเครื่องบิน Airbus A380S จำนวน 6 ลำ ออกจากฝูงบิน ซึ่งเป็นแนวโน้มหนึ่งที่สายการบินต่างๆจะใช้เครื่องบินขนาดยักษ์ลดลง เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารที่ลดลง แต่ขณะที่ต้นทุนการบินของเครื่องบินขนาดยักษ์อาจอยู่ในระดับสูง จึงไม่สามารถทำกำไรให้คุ้มค่าได้ สายการบินต่างๆจึงพยายามปรับ หรือแม้แต่การสั่งเครื่องบินในอนาคตจะต้องคำนวณจำนวนที่นั่งที่มีขนาดเหมาะสมภายใต้ยุค Social distancing แบบนี้
ขณะเดียวกันสิ่งที่ตามมาจากการลดการใช้เครื่องบินขนาดใหญ่ คือ การหมดยุคของที่นั่งชั้นหนึ่ง แม้ว่าที่ผ่านมาการมีที่นั่งโดยสารชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นการแบ่งกลุ่มลูกค้า ทำให้สายการบินต่างๆมีรายได้มากขึ้นจากรายได้กลุ่มนี้ เพราะค่าโดยสารที่แพง มีบริการดูแลที่ดีเยี่ยม แต่ก็ต้องใช้พื้นที่บริการค่อนข้างมาก
แต่เมื่อภาพของการให้บริการเปลี่ยนไปในอนาคตภายใต้การจัดแบ่งพื้นที่ที่อาจเปลี่ยนไป เพื่อคำนวณให้ได้ Load factor ที่ดีที่สุด คุ้มค่าที่สุด อาจมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลง โดยยุติการจัดพื้นที่แบบดั้งเดิม เช่น ชั้นหนึ่ง ชั้นธุรกิจ และชั้นประหยัด ที่ใช้กันมายาวนาน เป็นรูปแบบอื่นได้
“การเดินทางทางอากาศยังถือเป็นความจำเป็นพื้นฐานในยุคปัจจุบันไปแล้ว การปรับตัวในครั้งนี้ก็ขอให้เกิดสภาพ Win-Win แก่ทุกฝ่ายบน New normal ของอุตสาหกรรมการบินต่อไป รวมถึงการฟื้นฟูสายการบินแห่งชาติของเรา คือ การบินไทย รวมถึงสายการบินอื่นๆในประเทศไทยที่กำลังเผชิญความยากลำบากกันอยู่ ก็อยากให้การปรับตัวในครั้งนี้สามารถทำให้ธุรกิจสายการบินทุกแห่งก้าวผ่านช่วงเวลานี้ไปได้”นายกฤษฎา กล่าว