บจ.ไทยศักยภาพแกร่ง ขยายลงทุนสู่ตปท. สร้างรายได้ทะลุ 2.7 ล้านลบ.
บจ.ไทยศักยภาพแกร่ง ขยายลงทุนสู่ตปท. สร้างรายได้ทะลุ 2.7 ล้านลบ.
ฝ่ายวิจัยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เผยแพร่รายงานการลงทุนทางตรงในต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนใน SET ปี 2562 ภายใต้บทความพิเศษ 13 ปีกับศักยภาพในต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียน โดยระบุว่า ตลอดระยะเวลา 13 ปี (49-62) ฐานข้อมูลการลงทุนในต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) แสดงให้เห็นชัดเจนว่า บริษัทจดทะเบียนไทยมีศักยภาพในการประกอบธุรกิจและมีการเติบโตของรายได้ในต่างประเทศ
โดย ณ สิ้นปี 62 จำนวนบริษัทที่มีการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 232 บริษัท คิดเป็น 42% ของจำนวนบริษัทจดทะเบียน จาก 59 บริษัทในปี 2549 หรือคิดเป็น 13% ของจำนวนบริษัทจดทะเบียน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในบริษัททุกขนาด และทุกอุตสาหกรรม
ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศในปี 62 เพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนล้านบาท จาก 1.6 หมื่นล้านบาทในปี 49 และสัดส่วนเงินลงทุนในต่างประเทศในปี 62 เพิ่มขึ้นเป็น 14.7% ของเงินลงทุนทั้งหมดของบริษัทจดทะเบียน จาก 3.9% ในปี 49 อย่างไรก็ตามการลงทุนในต่างประเทศไม่ได้ทำให้มูลค่าเงินลงทุนในประเทศลดลง โดยในปี 62 มูลค่าเงินลงทุนในไทยอยู่ที่ระดับ 1.17 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3.96 แสนล้านบาทในปี 49
สำหรับรายได้จากต่างประเทศเติบโตเช่นเดียวกับการลงทุน โดยรายได้จากต่างประเทศในปี 62 ของ 270 บริษัทที่แสดงรายได้จากต่างประเทศรวม 2.76 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 8 แสนล้านบาทซึ่งเป็นของ 132 บริษัทที่แสดงรายได้จากต่างประเทศในปี 49
อย่างไรก็ตาม เพื่อศึกษาการเติบโตในระยะยาวและตัดปัจจัยด้านจำนวนบริษัทที่รายงานข้อมูลไม่เท่ากันในแต่ละปี จึงเปรียบเทียบเฉพาะบริษัทเดิมที่แสดงรายได้จากต่างประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 49-62 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 107 บริษัท พบว่าในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา รายได้จากต่างประเทศเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี ซึ่งสูงกว่ารายได้ในประเทศที่เติบโตเฉลี่ย 3.3% และสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 43% ในปี 62 จาก 35% ในปี 49
ทั้งนี้ ในปี 62 อาเซียนยังคงเป็นภูมิภาคเป้าหมายหลักที่บริษัทจดทะเบียนเลือกไปลงทุน ตามด้วยเอเชียเหนือ และยุโรปซึ่งมีลำดับใกล้เคียงกับในปี 49 แต่จำนวนบริษัทที่ลงทุนในแต่ละภูมิภาคเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะในอาเซียนที่จำนวนบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 191 บริษัท จาก 47 บริษัทในปี 49
สำหรับการเปลี่ยนแปลงตลอดช่วง 13 ปีแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนไทย จากจำนวนบริษัทที่ไปประกอบธุรกิจในต่างประเทศเพิ่มขึ้น มูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น และรายได้จากต่างประเทศเติบโตในอัตราที่สูงกว่ารายได้ในประเทศ ซึ่งเป็นการกระจายความเสี่ยงให้กับธุรกิจได้ทางหนึ่งจากการลดการพึ่งพาแหล่งรายได้เฉพาะในประเทศ
ทั้งนี้บริษัทจดทะเบียนไทยขนาดใหญ่ (SET50) ลงทุนในต่างประเทศด้วยการซื้อกิจการในต่างประเทศด้วยมูลค่าเงินลงทุนมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อรายการ ซึ่ง 77% ของจำนวนรายการลงทุนขนาดใหญ่นี้เป็นการลงทุนนอกอาเซียน ทำให้บริษัทจดทะเบียนไทยกลายเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทมากขึ้นในหลายธุรกิจในทุกภูมิภาคทั่วโลก
ด้าน ความเป็นบริษัทข้ามชาติของบริษัทจดทะเบียนไทย ไม่เพียงช่วยกระจายความเสี่ยงของธุรกิจและเปิดตลาดใหม่ที่นอกเหนือจากตลาดในประเทศ แต่ยังเป็นโอกาสที่เปิดกว้างขึ้นสำหรับผู้ลงทุนในการเลือกลงทุนในบริษัทข้ามชาติสัญชาติไทยที่มีศักยภาพในการเติบโตในหลายภูมิภาค
โดย ณ สิ้นปี 62 บริษัทจดทะเบียนจำนวน 232 บริษัทมีการลงทุนในต่างประเทศ หรือคิดเป็น 42% ของบริษัทจดทะเบียนใน SET เพิ่มขึ้นจาก 231 บริษัทในปีก่อนหน้า โดยในทุกอุตสาหกรรม และบริษัททุกขนาดมีการลงทุนในต่างประเทศ สำหรับภูมิภาคเป้าหมายหลักของการลงทุน ได้แก่ อาเซียน โดยเมียนมามีจำนวนบริษัทไปลงทุนมากที่สุด ตามด้วย เวียดนาม และสิงคโปร์
ทั้งนี้ในปี 62 บริษัทจดทะเบียนมีมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศรวม 2 แสนล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปีก่อน และคิดเป็น 14.7% ของเงินลงทุนทั้งหมด แต่ลดลงจากปีก่อนที่ 19.7% เนื่องจากโดยภาพรวมบริษัทจดทะเบียนมีมูลค่าเงินลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น 44% จากปีก่อน โดยกลุ่มทรัพยากรมีมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศสูงที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 71% ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศทั้งหมด บริษัทขนาดใหญ่ (SET50) ยังคงใช้เงินลงทุนมากที่สุด คิดเป็น 87% ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศทั้งหมด และบริษัทจดทะเบียนส่งเงินไปลงทุนในอาเซียนมากที่สุด แทนที่ยุโรปในปีก่อน
โดยปีที่ผ่านมารายได้จากต่างประเทศซึ่งรวมรายได้จากส่วนงานในต่างประเทศ และรายได้จากการส่งออกของบริษัทจดทะเบียนที่รายงานข้อมูลทั้งหมด 270 บริษัท ลดลง 8.8% จากปีก่อนซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากสงครามการค้า (บริษัท 58% มีรายได้ลดลงจากปีก่อน) ขณะที่รายได้ในประเทศลดลง 2.2% ส่งผลให้สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศต่อรายได้รวมของบริษัทจดทะเบียนอยู่ที่ระดับ 29.1% ลดลงจาก 30.5% ในปีก่อน ทั้งนี้แหล่งรายได้หลักมาจากประเทศในเอเชียโดยคิดเป็น 62% ของรายได้จากต่างประเทศทั้งหมด