ดาวโจนส์ปิดลบ 101.78 จุด วิตกมะกัน-จีนปะทุ หลังส.ว.สหรัฐผ่านร่างกม. คุมบ.จีนในวอลล์สตรีท
ดาวโจนส์ปิดลบ 101.78 จุด วิตกมะกัน-จีนปะทุ หลังส.ว.สหรัฐผ่านร่างกม. คุมบ.จีนในวอลล์สตรีท
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (21 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่าความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนอาจจะนำไปสู่การทำสงครามการค้ารอบใหม่ หลังจากวุฒิสภาสหรัฐผ่านร่างกฎหมายซึ่งอาจทำให้บริษัทสัญชาติจีนที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐถูกถอดออกจากตลาด
นอกจากนี้ บรรยากาศการซื้อขายยังได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานที่สูงกว่า 2.4 ล้านรายในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,474.12 จุด ลดลง 101.78 จุด หรือ -0.41%
ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,284.88 จุด ลดลง 90.90 จุด หรือ -0.97%
ส่วนดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,948.51 จุด ลดลง 23.10 จุด หรือ -0.78%
ทั้งนี้ นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากวุฒิสภาสหรัฐมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ผ่านร่างกฎหมาย “Holding Foreign Companies Accountable Act” ซึ่งอาจทำให้บริษัทสัญชาติจีนที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐถูกถอดออกจากตลาด นอกจากนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวยังอาจทำให้บริษัทจีนจำนวนมากไม่สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐ หรือระดมเงินทุนจากนักลงทุนชาวอเมริกันได้ในอนาคต
โดยร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดว่า บริษัทสัญชาติจีนที่เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐนั้น จะต้องไม่ถูกควบคุมหรือเป็นเจ้าของโดยรัฐบาลต่างชาติ นอกจากนี้ บริษัทสัญชาติจีนจะต้องยื่นรายงานด้านการเงินเพื่อให้คณะกรรมการกำกับดูแลด้านการบัญชีของบริษัทจดทะเบียน ทำการตรวจสอบบัญชีด้วย
สำหรับข่าวดังกล่าวได้ฉุดราคาหุ้นของบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐ ซึ่งรวมถึงหุ้นอาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง และหุ้น JD.com ปิดตลาดร่วงลงเมื่อคืนนี้ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะถูกถอดออกจากตลาดหุ้นสหรัฐ หากร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ โดยหุ้นอาลีบาบา ร่วงลง 2.14% หุ้น JD.com ดิ่งลง 3.2% หุ้นยัม ไชน่า โฮลดิ้ง ร่วงลง 4% หุ้นแซดทีโอ เอ็กซ์เพรส ทรุดตัวลง 5.5%
นอกจากนี้ การที่สหรัฐใช้วาทะกรรมทางการเมืองโจมตีจีนนั้น ยิ่งเพิ่มความวิตกกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ โดยล่าสุด ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ขู่ว่า สหรัฐจะตอบโต้จีนอย่างรุนแรงหากจีนออกกฎหมายความมั่นคงในฮ่องกงเพื่อจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง ขณะที่นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐได้ออกมาโจมตีจีนว่า เม็ดเงินมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ที่จีนอัดฉีดให้กับองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อสนับสนุนการต่อสู้กับโควิด-19 นั้น เทียบกันไม่ได้กับหลายแสนชีวิตที่ต้องสูญเสียไปเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว
หุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ฉุดตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดในแดนลบเมื่อคืนนี้ โดยหุ้นเอ็กซอน โมบิล ร่วงลง 1.74% หุ้นเชฟรอน ลดลง 1.03% หุ้นอ็อคซิเดนเชียล ปิโตรเลียม ดิ่งลง 4.87% หุ้นเบเกอร์ ฮิวจ์ ร่วงลง 1.2%
ส่วนหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีนั้น หุ้นเน็ตฟลิกซ์ ร่วงลง 2.5% หุ้นอเมซอนดอทคอม ร่วงลง 2.05% หุ้นอินเทล ลดลง 1.7% หุ้นแอปเปิล ลดลง 0.75% หุ้นไมโครซอฟท์ ปรับตัวลง 1.2%
หุ้นเบสท์บาย ซึ่งเป็นห้างค้าปลีกสินค้าอิเลคทรอนิคส์รายใหญ่ของสหรัฐ ร่วงลง 4.37% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรในไตรมาสแรกลดลงสู่ระดับ 159 ล้านดอลลาร์ หรือ 61 เซนต์/หุ้น เมื่อเทียบกับ 265 ล้านดอลลาร์ หรือ 98 เซนต์/หุ้น ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
หุ้นเมซีส์ อิงค์ ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ของสหรัฐ พุ่งขึ้น 5.9% หลังจากบริษัทเปิดเผยว่า ความต้องการสินค้าของผู้บริโภคในห้างสาขาที่เพิ่งกลับมาเปิดใหม่อีกครั้งนี้ ดีดขึ้นมากกว่าที่บริษัทคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี บริษัทคาดการณ์ว่าจะประสบภาวะขาดทุนจากการดำเนินงานคิดเป็นวงเงินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรก เนื่องจากบริษัทต้องปิดสาขาจำนวนมากตามมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดและมีผลต่อภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจำนวน 2.44 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว โดยตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.40 ล้านราย
ขณะที่ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต และภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ดีดตัวสู่ระดับ 36.4 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 27.0 ในเดือนเม.ย.
ด้าน Conference Board เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ร่วงลง 4.4% แตะระดับ 98.8 ในเดือนเม.ย. หลังจากดิ่งลง 6.7% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นการทรุดตัวลงหนักที่สุดในรอบ 60 ปีที่มีการรายงานตัวเลขดังกล่าว