สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 21 พ.ค. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 21 พ.ค. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (21 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่าความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนอาจจะนำไปสู่การทำสงครามการค้ารอบใหม่ หลังจากวุฒิสภาสหรัฐผ่านร่างกฎหมายซึ่งอาจทำให้บริษัทสัญชาติจีนที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐถูกถอดออกจากตลาด นอกจากนี้ บรรยากาศการซื้อขายยังได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานที่สูงกว่า 2.4 ล้านรายในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,474.12 จุด ลดลง 101.78 จุด หรือ -0.41% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,284.88 จุด ลดลง 90.90 จุด หรือ -0.97% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,948.51 จุด ลดลง 23.10 จุด หรือ -0.78%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (21 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ลงระหว่างสหรัฐ-จีน นอกเหนือไปจากความกังวลเกี่ยวกับอัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างเชื่องช้าของยูโรโซน หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.75% ปิดที่ 340.26 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,445.45 จุด ลดลง 51.52 จุด หรือ -1.15%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 11,065.93 จุด ลดลง 157.78 จุด หรือ -1.41% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,015.25 จุด ลดลง 51.91 จุด หรือ -0.86%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (21 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะเป็นไปอย่างเชื่องช้าหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ลงระหว่างสหรัฐ-จีนได้ส่งผลกดดันตลาดด้วย
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,015.25 จุด ลดลง 51.91 จุด หรือ -0.86%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดในแดนบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 6 เมื่อคืนนี้ (21 พ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการลดลงของสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐ รวมทั้งการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากความหวังที่ว่า อุปสงค์น้ำมันจะฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่รัฐบาลต่างๆพากันผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 43 เซนต์ หรือ 1.3% ปิดที่ 33.92 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2563
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 31 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 36.06 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2563
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 30 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (21 พ.ค.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ทำให้สัญญาทองคำมีความน่าดึงดูดน้อยลง นอกจากนี้ ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของภาคบริการและภาคการผลิตทั้งในสหรัฐและยุโรป ยังส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 30.2 ดอลลาร์ หรือ 1.72% ปิดที่ 1,721.9 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 66.7 เซนต์ หรือ 3.7% ปิดที่ 17.364 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 68 ดอลลาร์ หรือ 7.28% ปิดที่ 866.5 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ดิ่งลง 97.10 ดอลลาร์ หรือ 4.5% ปิดที่ 2,062.30 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (21 พ.ค.) ขานรับรายงานของไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต และภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ดีดตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน
ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.58 เยน จากระดับ 107.48 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9701 ฟรังก์ จากระดับ 0.9647 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3947 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3891 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0955 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0984 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2235 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2230 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6564 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6600 ดอลลาร์สหรัฐ