BANPU วางกลยุทธ์รับมือราคาถ่านหินผันผวน ฟาก BPP ยันเดินหน้า COD รฟฟ. 424 MW ตามแผน

BANPU วางกลยุทธ์รับมือราคาถ่านหินผันผวน ฟาก BPP ยันเดินหน้า COD รฟฟ. 424 MW ตามแผน


นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU เปิดเผยว่า บริษัทฯมองแนวโน้มราคาถ่านหินในระยะสั้นยังคงอยู่ในระดับต่ำ แม้เริ่มปรับตัวขึ้นมาได้บ้าง ล่าสุดอยู่ที่ 53 เหรียญฯ/ตัน หลังซัพพลายเออร์ตอบรับปรับลดกำลังการผลิตลง โดยเชื่อว่าราคาถ่านหินได้พ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว ซึ่งในระยะแรกคาดราคาถ่านหินน่าจะอยู่ที่ 50-60 เหรียญฯ/ตัน และในระยะยาวคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 70-80 เหรียญฯ/ตัน โดยเชื่อว่าราคาถ่านหินจะยังไม่สามารถกลับขึ้นไปสู่ระดับ 100 เหรียญฯ/ตันได้

“ทิศทางราคาถ่านหินในช่วงนี้ยังคงมีความผันผวนอยู่ จากซัพพลายที่มีมากกว่าดีมานด์ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง ตามระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวลดลงด้วย”

อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ได้วางนโยบายเพื่อต่อสู้กับราคาถ่านหินที่ผันผวน แม้จากเดิมจะมุ่งเน้นในเรื่องของประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนอยู่แล้ว แต่จะมุ่งเน้นให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยวางเอาไว้ 4 ด้าน ได้แก่

1.ประสิทธิภาพการผลิต ทั้งในอินโดนีเซีย, ออสเตรเลีย, จีน ตั้งเป้าผลิตให้เป็นไปตามแผน

2.การลดต้นทุน โดยขอให้ทุกหน่วยลดต้นทุนการผลิตลงอย่างน้อย 15% และเน้นให้กลับไปทบทวนถึงแผนการผลิต ทั้งระยะสั้น ระยะยาว โดยพยายามเน้นผลิตในส่วนที่ต้นทุนต่ำที่สุดให้มากขึ้นในช่วงนี้ รวมถึงต้นทุนการบริหารจัดการต่างๆ และพยายามลดระยะทางการขนส่งด้วย โดยเฉพาะในเหมืองที่อินโดนีเซีย

3.ด้านการตลาด เน้นขายไปในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งเป็นตลาดที่มีราคาค่อนข้างดีและทารงตัวได้ดีกว่าราคาส่งออก โดยเฉพาะที่ประเทศออสเตรเลีย บริษัทฯ ก็มีการทำ fixed price มากขึ้น

4.การบริหารเงินสด เน้นลงทุนในสิ่งที่จำเป็น ควบคุมการใช้เงินมากขึ้น เพื่อรักษาระดับเงินสด

ส่วนธุรกิจก๊าซธรรมชาติในช่วงที่ผ่านมา ราคาก๊าซในสหรัฐฯ ได้ปรับตัวลงไปค่อนข้างมาก เนื่องจากมีซัพพลายค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับดีมานด์ แต่ปัจจุบันราคาเริ่มฟื้นตัวขึ้น จากหลายแหล่งที่ผลิตก๊าซในสหรัฐฯ มีการปิดหลุมผลิตลง โดยกำลังการผลิตที่มีแนวโน้มจะลดลง ทำให้นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่าราคาก๊าซน่าจะดีดกลับขึ้นมาได้ในช่วงปลายปีนี้ เห็นได้จากราคาซื้อขายก๊าซล่วงหน้าของสหรัฐฯ ในช่วงสิ้นปี 63 ถึงต้นปี 64 ราคาปรับขึ้นมาอยู่ที่ 3 เหรียญฯ/ล้านบีทียู จากราคาปัจจุบันที่อยู่ที่ 1.7 เหรียญฯ/ล้านบีทียู ทำให้คาดว่าในไตรมาส 1 และ 2 นี้ ราคาก๊าซที่อยู่ในระดับต่ำน่าจะยังคงกดดันผลประกอบการอยู่ แต่ในช่วงที่เหลือของปีน่าจะปรับตัวดีขึ้น ตามแนวโน้มราคาก๊าซ

ด้าน นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยืนยันสามารถจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างดำเนินการได้ตามแผนปีนี้ กำลังการผลิตรวม 424 เมกะวัตต์ (MW) แบ่งเป็น

1.โรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (Shanxi Lu Guang) ประเทศจีน กำลังผลิต 396 เมกะวัตต์ คาดจะ COD ได้ในไตรมาส 4/63 จากปัจจุบันก่อสร้างไปแล้ว 76%

2.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยามางาตะ กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ คาด COD ได้ในไตรมาส 3/63 ปัจจุบันก่อสร้างไปแล้ว 96% และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยาบูกิ กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ คาด COD ในไตรมาส 4/63 ก่อสร้างไปแล้วราว 46%

3.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมซอกจาง (Soc Trang) เฟส 1 ประเทศเวียดนาม กำลังการผลิตรวม 30 เมกะวัตต์ คาดจะสามารถ COD ในไตรมาส 4/63

อย่างไรก็ตามบริษัทฯ คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้และกำไรจากโครงการดังกล่าวได้อย่างชัดเจนในปี 64

ส่วนแผนการลงทุนต่างๆ ในปีนี้ เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 บริษัทฯ ได้มีการระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น และพยายามบริหารจัดการต้นทุนให้ดียิ่งขึ้น ขณะที่แผนการลงทุนโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติที่สหรัฐฯ และเวียดนาม ยอมรับว่าการศึกษามีความล่าช้าออกไป เนื่องจากทั้งสองประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะที่ประเทศสหรัฐฯ

Back to top button