“คมนาคม-ทย.” ปรับแผน ให้ “ทอท.” เช่าบริหาร สนบ.ภูมิภาค หาคนกลาง ศึกษาผลได้ผลเสีย

"คมนาคม-กรมท่าอากาศยาน" ปรับแผน ให้ "ทอท." เช่าบริหาร สนบ.ภูมิภาค หาคนกลาง ศึกษาผลได้ผลเสีย


นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับผู้บริหาร กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ในการพิจารณากำหนดแนวทาง วิธีการ ในการให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)​ หรือ ทอท. (AOT)​ บริหารจัดการท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน

โดยระบุว่า กรมท่าอากาศยานได้พิจารณาข้อกฎหมายและความเป็นไปได้ ผลประโยชน์ต่อภาครัฐและประชาชน โดยมีการศึกษาเบื้องต้น 3 แนวทาง พบว่า แนวทางใหม่คือการให้ ทอท.เช่าบริหารสนามบิน เนื่องจากทรัพย์สินคือสนามบิน ยังคงเป็นของรัฐ โดยรัฐมีรายได้จากค่าเช่า และประหยัดงบประมาณในการลงทุนส่วนทอท.สามารถลงทุนพัฒนาสนามบินได้

ส่วนแนวทางการโอนสนามบินของกรมท่าอากาศยาน ให้ ทอท.และแนวทาง การจ้าง ทอท.บริหารนั้น พบว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากทอท.เป็นรัฐวิสาหกิจและเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ไม่สามารถโอนทรัพย์สิน ที่รัฐลงทุนไปให้ หรือรับจ้างบริหารทรัพย์สินของรัฐได้

ทั้งนี้ นายถาวร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ประชุมเป็นการภายใน และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณา โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน และมีผู้แทนจาก สภาพัฒน์ กฤษฎีกา สำนักงบประมาณ กรมธนารักษ์ กรมท่าอากาศยาน และทอท. ร่วมเป็นคณะกรรมการ

โดยจะต้องมีองค์กรที่เป็นกลาง เช่น สถาบันการศึกษา หรือ ทีดีอาร์ไอ เป็นต้น เข้ามาศึกษาถึงผลกระทบ ผลได้ผลเสีย ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.)​ และให้คณะกรรมการนำข้อมูลมาประมวล อย่างรอบด้านตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการ ซึ่งคาดว่าจะสรุปเสนอนายกฯ ภายใน 1-2 เดือน

นายถาวร กล่าวว่า สิ่งที่ฝากคณะกรรมการฯที่จะศึกษาแนวทางการให้ทอท.เช่าบริหารสนามบินของทย.ก็คือ ต้องยึดหลักกฎหมาย โปร่งใส เปิดกว้าง เป็นธรรม ประชาชนและรัฐได้ประโยชน์ เกิดการพัฒนาสนามบินให้ทันสมัย

โดยต้องพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ. พ.ศ. 2542 มาตรา 3,4.10 .12 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 4,8,56 กฎกระทรวงกรณีจัดซื้อจัดจ้างพัสดุด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง พ.ศ. 2561 ข้อ 2(4) (ก) ,พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 มาตรา 4,8 และ 23 ,พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประมวลกฎหมายอาญา 157 ,คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ ฟ 5/2548 ระหว่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และพวก ผู้ฟ้อง กับนายกรัฐมนตรีและพวกเป็นผู้ถูกฟ้อง

“ข้อมูลทุกเรื่องต้องนำมาศึกษาประกอบกันอย่างรอบคอบ ระเบียบ กฎหมาย องค์กรกลางต้องเข้ามาช่วยศึกษา สนามบินต้องพัฒนาดีขึ้น รวมถึงหากทอท.บริหารจะมีความคล่องตัวอย่างไร ต้องนำข้อมูลมาดูหมด การทำงานที่ดี ต้องถูกต้อง และรวดเร็ว”

ขณะนี้มี 3 แนวทาง คณะกรรมการฯศึกษาพิจารณาแล้วอาจจะมี วิธีที่ 4 คือ PPP ก็ได้หากพบว่า PPP เป็นการเปิดกว้าง แข่งขันและรัฐและประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดมากกว่า การให้เช่า เช่นกรณี PPP สนามบินอู่ตะเภา เอกชนให้ประโยชน์กับรัฐ กว่า 3หมื่นล้านบาท ตรงนี้อยู่ที่นโยบาย ขณะที่การให้ทอท. อาจจะเป็นแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งต้องดูว่ามีระเบียบยกเว้นทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย เพราะถือว่า สนามบินที่ทย.บริหาร เป็นทรัพย์สินของรัฐ มูลค่าเป็นหมื่นล้านบาท

ด้านนายทวี เกศิสำอาง อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวว่า รูปแบบการจ้างบริหาร ทรัพย์สินของรัฐ สัญญาระยะสั้นการลงทุนจะไม่คุ้มค่า ขณะที่ กรมท่าอากาศยานยังต้องลงทุนพัฒนาสนามบินต่อไป ซึ่งแบบนี้ กรมท่าอากาศยานบริหารเองดีกว่า แต่ไม่ตรงนโยบายที่ต้องการลดภาระงบประมาณในการลงทุนพัฒนาสนามบิน จึงเกิดแนวคิดในการให้เช่าบริหาร คล้ายกับการเช่าช่วง เมื่อหมดสัญญาเช่า ทรัพย์สินจะกลับมาเป็นของ ทย.เหมือนเดิม ซึ่งอยู่ที่กำหนดระยะเวลาสัญญา

เบื้องต้น จะเป็นสัญญาเช่าระยะยาว ทอท.จะต้องลงทุนในการพัฒนา ขยาย และเพิ่มความสะดวก ในการบริการ รวมถึงสามารถพัฒนาพื้นที่ต่อยอด เพื่อหารายได้เพิ่ม เช่น โรงแรม หรือธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับผู้โดยสาร

ขณะที่ กรมท่าอากาศยานซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ ไม่สามารถดำเนินการด้านเชิงพาณิชย์ได้อย่างคล่องตัว เหมือนรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น การให้ทอท.เช่าบริหารนั้น สัญญาจะต้องมีเงื่อนไขและกำหนดตัวชี้วัดต่างๆ จากจำนวนผู้โดยสารและปริมาณเที่ยวบิน ระยะเวลาสัญญาที่เหมาะสม ผลตอบแทนรัฐที่เหมาะสม

สำหรับแนวทางการเปิดประมูล PPP เพื่อให้เกิดการแข่งขันนั้น นายทวีกล่าวว่า คงต้องศึกษาว่า ต้องการให้รัฐวิสาหกิจเข้ามาบริหารสนามบิน หรือต้องการเปิด PPP ซึ่งอาจจะมีเอกชนต่างชาติเข้ามา ซึ่งต้องพิจารณาว่า สนามบินภูมิภาคเป็นทรัพย์สินของรัฐ ขณะที่ เส้นทางการบิน น่านฟ้า เป็นทรัพยากรที่มีจำกัด หากต่างชาติได้สัมปทาน และจ่ายผลตอบแทนให้รัฐก้อนหนึ่ง คุ้มค่าหรือไม่ กระทบต่อการบริหารนโยบายหรือไม่

อย่างไรก็ตาม จะต้องรายงานนายกรัฐมนตรีว่าข้อสั่งการที่ให้โอน 4 สนามบินให้ ทอท. นั้น มีข้อจำกัดทางกฎหมาย เพราะ ทอท.เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีเอกชนถือหุ้น 30% โดยจะมีการศึกษาแนวทางการเช่าบริหาร หรืออาจจะต้องดูแนวทางที่เป็นประโยชน์มากที่สุดกับประเทศและประชาชน ส่วนจะเป็นสนามบินใดบ้าง จะต้องรอผลการศึกษาก่อน ซึ่งขณะนี้ถือว่ากรอบแนวคิดเปลี่ยนไปจากเดิมที่ต้องการให้โอนสนามบินภูมิภาคให้ ทอท.

อนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2561 ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาโอนสนามบินของกรมท่าอากาศยาน 4 แห่งได้แก่ อุดรธานี สกลนคร ตาก และชุมพร ให้ ทอท.บริหาร โดยพิจารณาให้ถูกต้องเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ส่วนสนามบินที่เหลือ ให้ กรมท่าอากาศยานจัดทำแผนพัฒนาบริหารให้เหมาะสม

ต่อมา วันที่ 21 ส.ค. 2562 คณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. มีมติ ขอรับบริหาร ท่าอากาศยานภูมิภาค ของ ทย. 4 แห่ง คือ ตาก อุดรธานี บุรีรัมย์ กระบี่ ซึ่งยังไม่มีการตกลงใดๆ

Back to top button