“สธ.” เผย 3 เดือน “โควิด” อุบัติเหตุบนถนนหด ลดความสูญเสียทางศก. กว่า 1.7 หมื่นลบ.
"กระทรวงสาธารณสุข" เผย 3 เดือน "โควิด" (ม.ค.-มี.ค.63) สถิติผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนหด ลดความสูญเสียทางศก. กว่า 1.7 หมื่นลบ.
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ “อุบัติเหตุทางถนน ยุค New Normal” ว่า ในยุคของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 63 จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง 595 คน คิดเป็น 10.78% (ปี 63 เสียชีวิต 4,924 คน ปี 62 เสียชีวิต 5,519 คน)
และจำนวนผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ (ทั้งสาหัสและเล็กน้อย) ลดลง 94,626 คน คิดเป็น 25.45% (ปี 62 บาดเจ็บ 371,767 คน)
ทั้งนี้ สามารถลดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้กว่า 1.7 หมื่นล้านบาท (ปี 62 มีมูลค่าความสูญเสียประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาท/ ปี 63 มูลค่าความสูญเสียประมาณ 5.9 หมื่นล้านบาท)
โดยเฉพาะในเดือน มี.ค.เดือนเดียว ที่เริ่มมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้มีปริมาณการเดินทางลดลง การห้ามออกนอกเคหะสถานในช่วงเวลา 4 ทุ่ม-ตี 4 และมีการตั้งด่านความมั่นคง ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง 201 คน คิดเป็น 10.85% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (ปี 62 เสียชีวิต 1,853 คน) และผู้บาดเจ็บลดลง 64,885 คน คิดเป็น 50.10% (ปี 62 บาดเจ็บ 129,498 คน)
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนวนสถานการณ์ดูเหมือนจะดีขึ้น แต่ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนก็ยังมีความรุนแรงสูง เพราะในช่วง 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.63) ยังมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 50-58 คน แต่ในหลายพื้นที่ต้องใช้ทรัพยากรไปกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การทำงานป้องกันอุบัติเหตุมีข้อจำกัด
และในช่วงเดือน พ.ค. 63 ที่มีการผ่อนปรนมาตรการให้กับประชาชน ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านมีข้อกังวลกับสถานการณ์ที่จะกลับมารุนแรงมากขึ้น เพราะมีบางมาตรการสำคัญที่ช่วยลดทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และลดการเกิดอุบัติเหตุ ได้ถูกผ่อนปรนด้วย เช่น การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
อีกทั้งในช่วงนี้เข้าฤดูฝน ส่งผลให้ทัศนวิสัยไม่ดี ถนนลื่น มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ประกอบกับใกล้เปิดเทอม เด็กนักเรียนไปโรงเรียน การเดินทางโดยรถสาธารณะจะไม่เหมือนเดิมแล้ว ต้องเว้นระยะห่าง ทำให้แต่ละเที่ยวบรรทุกผู้โดยสารได้จำนวนน้อยลง อาจจะเป็นแรงส่งให้มองหาพาหนะมาใช้เองเพื่อความสะดวกคล่องตัว ทำให้หันมาใช้รถจักรยานยนต์และรถยนต์เพิ่มมากขึ้น ปัญหาอุบัติเหตุอาจเข้าสู่จุดวิกฤติ ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนอุบัติเหตุสูงขึ้นได้
นอกจากนี้ อีกมาตรการหนึ่งที่กรมควบคุมโรค แนะนำให้ประชาชนในการป้องกันโรคโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่ใช้รถจักรยานยนต์ นั่นคือ นอกจากจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นปกติอยู่แล้ว ควรที่จะเพิ่มมาตรการป้องกันให้สูงขึ้น โดยการสวมหมวกนิรภัยควบคู่กับการใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่มีการใช้รถจักรยานยนต์
ทั้งนี้ เนื่องจากการสวมหมวกนิรภัยที่มีกระจกป้องกันลม กระจกป้องกันลมดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นหน้ากากพลาสติกคลุมหน้าคล้าย face shield ที่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขใช้นั่นเอง ซึ่งนอกจากจะป้องกันอุบัติเหตุเป็นหลักแล้ว ยังสามารถป้องกันเชื้อโรคโควิด-19 ที่ฟุ้งกระจายออกมาจากคนรอบข้างได้
ดังนั้น จึงถือว่าสร้างความปลอดภัยยกกำลัง 2 กล่าวคือ ป้องกันได้ทั้งอุบัติเหตุและโควิด-19 และหลังการสวมใส่หมวกนิรภัยทั้งของตัวผู้ขับขี่และคนซ้อนท้ายแล้ว ควรมีการเช็ดและทำความสะอาดหมวกนิรภัยด้วยแอลกอฮอล์หรือเช็ดด้วยน้ำสบู่/น้ำยาล้างมือ หรือนำหมวกนิรภัยไปตากแดดทิ้งเพื่อฆ่าเชื้อโรค