“ฝ่ายค้าน” ซัดรัฐบาลแก้ “โควิด” พลาด ย้ำแผนใช้เงินกู้ ต้องชัดเจน-โปร่งใส เยียวยาทั่วถึง
"ฝ่ายค้าน" ซัดรัฐบาลแก้ปม "โควิด" พลาดหลายจุด ย้ำใช้เงินกู้ แผนงานต้องชัดเจน-โปร่งใส เยียวยาครอบคลุม ทั่วถึง
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวในที่ประชุมสภาฯ วันนี้ (27 พ.ค.63) ถึงการแก้ปัญหาแพร่ระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ว่าเกิดความผิดพลาดหลายประการ เช่น เกิดปัญหาหน้ากากอนามัยและชุด PPE ขาดแคลน, การประกาศล็อกดาวน์โดยไม่มีมาตรการรองรับที่ชัดเจน, ความล่าช้าในการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ความล่าช้าในการผ่อนปรนมาตรการ เพราะความสำเร็จในการแก้ปัญหาไม่ควรอยู่บนซากปรักหักพังของบ้านเมือง
โดยในส่วนของการกู้เงินจำนวนมหาศาลครั้งนี้ สร้างภาระหนี้ในอนาคต แต่รัฐบาลมอบอำนาจให้กับคณะบุคคลเพียงไม่กี่คนดูแล โดยไม่เปิดโอกาสให้สภาผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนของประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ เช่น วงเงินสำหรับงานด้านสาธารณสุขจำนวน 4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่มีการชี้แจงในรายละเอียด
วงเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจำนวน 5.55 แสนล้านบาทที่เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ไม่ครอบคลุม ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อเพราะขาดหลักประกันที่น่าเชื่อถือ ซึ่งเชื่อว่าเงินกู้ส่วนนี้คงใช้ไม่หมด
“หวังว่าการบริหารเงินกู้ส่วนนี้ของรัฐบาลจะเป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่ส่งผลประโยชน์ให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และขอให้ระลึกว่าเงินทุกบาททุกสตางค์เป็นเงินในอนาคตของลูกหลาน” นายสมพงษ์ กล่าว
ด้าน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายถึง พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับว่า นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 57 จนถึงปัจจุบันรวม 6 ปีมีการก่อหนี้สาธารณะด้วยการกู้ยืมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นมูลค่ารวม 2.662 ล้านล้านบาท แต่ภาวะเศรษฐกิจกลับแย่ลง ซึ่งสะท้อนถึงความล้มเหลวของการบริหารประเทศ เพราะเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้ง 4 ด้าน คือ การส่งออก, การท่องเที่ยว, การลงทุน และการบริโภคภายในประเทศ หดตัวทั้งหมดจึงจำเป็นต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมา
“เมื่อรวมเงินกู้ส่วนนี้กับที่จะไปกู้ชดเชยขาดดุลงบประมาณอีก 5 แสนล้านบาท หากไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจ จีดีพีหดตัวลงจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะใกล้เพดาน 60% เรียกว่าเป็นเงินหน้าตักก้อนสุดท้ายแล้ว และจะเป็นการสร้างหนี้ไปชั่วลูกชั่วหลาน” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว
ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลต้องพยายามดำเนินการให้ได้ 3 ประการ คือ การเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการให้ทั่วถึงและเกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ การพยุงรักษาภาวะเศรษฐกิจไม่ให้ล่มสลาย และการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับคืนมา
นอกจากนี้ น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลควรหยิบยกเอาความสำเร็จด้านสาธารณสุขที่สร้างความปลอดภัยจากโควิด-19 ซึ่งนานาชาติให้การยอมรับมาเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ ตนเองเชื่อว่าประเทศไทยจะเป็นเป้าหมายที่ต่างชาติต้องการเข้ามาพักอาศัยซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรืออยากเข้ามาลงทุนมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ตนเองยังมีข้อสงสัยว่าหากนำเงินกู้ 4 แสนล้านบาทไปสนับสนุนการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น สินค้าที่ผลิตออกมาจะเอาไปขายให้ใคร เพราะขณะนี้ประชาชนในประเทศไม่มีกำลังซื้อ ดังนั้น รัฐบาลต้องมีแผนการใช้เงินกู้ที่โปร่งใสชัดเจน และเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ทำมาหากิน ไม่ฉวยโอกาสทางการเมือง
ทั้งนี้ หากจะให้ฝ่ายค้านสนับสนุนการออก พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 3 ฉบับนี้ มี 3 เงื่อนไข คือ 1.ให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้เงินกู้, 2.ขอให้รัฐบาลรายงานความคืบหน้าการใช้เงินกู้ทุก 3 เดือน และ 3.การออกกฎหมายยกเลิกการใช้เงินกู้ที่ไม่เกิดประโยชน์และขาดประสิทธิภาพ