“สมาคมรถมือสอง” ค้านหั่นภาษีรถใหม่ 50% หวั่นซ้ำเติมยอดขาย หลังไตรมาสแรกหด 25% เซ่นโควิด
"สมาคมรถมือสอง" ยื่นหนังสือ "สรรพสามิต" ค้านหั่นภาษีรถใหม่ 50% ตามมาตรการเยียวยากลุ่มยานยนต์ของ "สภาอุตฯ" หวั่นซ้ำเติมยอดขาย หลังไตรมาสแรกหด 25% เซ่นโควิด
นายภิญโญ ธนวัชรภรณ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว ได้ยื่นหนังสือต่อกรมสรรพสามิตเพื่อคัดค้านข้อเสนอการเยียวยาอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
โดยในส่วนข้อเสนอการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ลง 50% นั้น ทางสมาคมฯ เห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง การนำเสนอข้อเรียกร้องดังกล่าวถือว่าเป็นการนำเสนอข้อเรียกร้องที่ขาดซึ่งความสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม และเป็นการซ้ำเติมอุตสาหกรรมข้างเคียงอย่างรุนแรง ดังที่เคยเกิดขึ้นกับนโยบายรถยนต์คันแรกในปี 2555
ทั้งนี้ เห็นว่าหากภาครัฐให้การสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าว นอกจากจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีเป็นจำนวนเงิน 40,000-100,000 บาทต่อคันแล้ว ข้อเสนอดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อมูลค่าของรถยนต์ใช้แล้วที่หมุนเวียนในอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้วจะเกิดภาวะขาดทุนจากมูลค่าของสินค้าคงคลังที่ลดลงอย่างรุนแรง เหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดในปี 2555 ที่มีผู้ประกอบการในธุรกิจรถยนต์ใช้แล้วต้องล้มหายตายจากไปกว่า 30% และถือเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการที่ประสบความยากลำบากในวิกฤตินี้ด้วย
“นโยบายรถยนต์คันแรกได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของอุตสาหกรรมรถยนต์ใช้แล้วและสินเชื่อรถยนต์ยาวนานถึง 3 ปี ถือเป็นวิกฤติการณ์ที่รุนแรงครั้งหนึ่งในอุตสาหกรรมรถยนต์ใช้แล้ว ที่ส่งผลกระทบต่อมูลค่าของรถยนต์ที่ตกลงอย่างรุนแรง ทำให้มูลค่าสินทรัพย์ของอุตสาหกรรมรถยนต์ใช้แล้วและอุตสาหกรรมข้างเคียง เช่น อุตสาหกรรมสินเชื่อรถยนต์เกิดภาวะสินทรัพย์ด้อยค่า ทำให้ระบบนิเวศ (Ecosystem) เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง” นายภิญโญ กล่าว
ส่วนข้อเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนโครงการรถเก่าแลกรถใหม่ โดยให้ภาครัฐใช้เงินภาษีสนับสนุนราคารถเก่าในมูลค่าถึง 100,000 บาท ถือเป็นการนำเสนอโครงการที่มองไม่เห็นจุดจบว่ารถเก่าเหล่านี้จะนำไปเก็บไว้ที่ไหน ซึ่งหลายประเทศ รัฐบาลมีการสนับสนุนโครงการดังกล่าวจริง แต่ว่าต้องกำหนดอายุของรถยนต์ให้ชัดเจน เช่น รถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป รัฐบาลจะให้การสนับสนุนราคารถเก่าในมูลค่าที่กำหนด เพื่อนำรถยนต์ที่มีอายุเหล่านั้นไปรีไซเคิล หรือส่งออกไปยังประเทศที่ 3 ต่อไป เพื่อแก้ปัญหามลพิษภายในประเทศ
แต่โครงการอุตสาหกรรมรีไซเคิลรถยนต์ หรือการส่งออกรถยนต์เก่าไปยังประเทศที่ 3 ยังไม่มีโครงการที่ชัดเจน ทางสมาคมฯ เห็นว่าภาครัฐควรได้รับแผนงานที่ชัดเจนจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์เสียก่อน จึงจะนำไปพิจารณาให้ความช่วยเหลือ
“อยากให้ภาครัฐพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียของข้อเรียกร้องจากทางกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. ให้ถี่ถ้วน เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอื่นในภาวะวิกฤตินี้” นายภิญโญ กล่าว
ทั้งนี้ หากกรมสรรพสามิต ปรับลดอัตราภาษีให้กับรถยนต์ใหม่จริง จะทำให้การขยายตัวของตลาดรถยนต์มือ 2 ปีนี้ปรับตัวลดลงมากกว่า 20% จากปีก่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ 145,000 ล้านบาท หลังจากไตรมาสที่ 1/63 ปรับตัวลดลงกว่า 25% จากปัญหาโควิด-19 และสินเชื่อที่ตึงตัวจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ดังนั้น จึงไม่อยากให้กรมสรรพสามิตปรับลดอัตราภาษีตามข้อเสนอของส.อ.ท.
ด้านนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ได้รับหนังสือร้องเรียนของสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว ซึ่งจะเชิญทั้งฝ่ายที่เสนอให้ลดภาษี และไม่ต้องการให้ลดภาษี มาประชุมร่วมกันในวันที่ 28 พ.ค.นี้ ที่กรมสรรพสามิต ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไร จะมีการแถลงอีกครั้ง ซึ่งกรมสรรพสามิตต้องรับฟังความเห็นทุกฝ่าย