“วีระวงค์ฯ” ดึงสติ! กว่าจะรู้ “บินไทย” ได้เข้าแผนหรือไม่ ส่อเค้าลากยาวถึง Q2 ปีหน้า

“วีระวงค์ฯ” ดึงสติ! กว่าจะรู้ “บินไทย” ได้เข้าแผนหรือไม่ ส่อเค้าลากยาวถึง Q2 ปีหน้า


นายสันทัสก์ เกิดสินทรัพย์ ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส (Senior Counsel) ด้านคดีความและการระงับข้อพิพาท บริษัท วีระวงค์, ชินวัฒน์ และพาร์ทเนอร์ส จำกัด กล่าวว่า กรณีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ได้ยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 26 พ.ค. และศาลฯได้รับคำร้องเมื่อวันที่ 27 พ.ค.โดยศาลฯกำหนดไต่สวน 17 ส.ค. เพื่อพิจารณาว่า จะอนุญาตให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหรือไม่ พร้อมกับยอมรับผู้ทำแผนที่ได้เสนอมา แต่ยังไม่ได้มีคำสั่งแผนฟื้นฟูแต่อย่างใด

โดยขั้นตอนหลังจากนี้ เจ้าหนี้ต้องแสดงตัวภายใน 1 เดือน เพื่อยื่นขอรับชำระหนี้ ขณะเดียวกันเริ่มนับระยะเวลาผู้ทำแผนฟื้นฟูหลังจากศาลแต่งตั้ง มีเวลา 3 เดือน แต่หากไม่เสร็จก็สามารถขอศาลขยายเวลาได้ 1 เดือน 2 ครั้ง หรือทำแผนให้เสร็จภายใน 5 เดือน ดังนั้น ระยะเวลาการฟื้นฟูการบินไทยเริ่มนับตั้งแต่ 17 ส.ค. ตั้งผู้ทำแผน และโฆษณาคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษา ถ้าไม่ได้ตามกำหนดเจ้าหนี้อาจเสียสิทธิ โดยมีเวลาถึง ก.พ.64 หรือ 5 เดือน ที่จะต้องทำแผนฟื้นฟูกิจการเสนอต่อศาลฯ จากนั้น เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์จะส่งสำเนาแผนฟื้นฟูกิจการให้กับเจ้าหนี้ทุกราย พร้อมกำหนดวันประชุมเจ้าหนี้เพื่อโหวตว่าจะรับแผนฟื้นฟูหรือไม่ เมื่อเจ้าหนี้ลงมติรับแผนฟื้นฟูแล้วก็จะรายงานต่อศาลฯ ถ้าศาลฯเห็นชอบแผนฟื้นฟูพร้อมแต่งตั้งผู้บริหารแผน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนเดียวกับผู้ทำแผน โดยศาลฯจะพิจารณาว่าการเข้ายื่นฟื้นฟูกิจการเป็นไปตามคุณสมบัติ และมีแนวทางชำระหนี้อย่างไร

ดังนั้น กว่าแผนฟื้นฟูจะผ่านได้รับความเห็นชอบจากศาลฯก็อาจจะเป็นไตรมาส 2 ปี 64 โดยในสิ้นปีนี้ การบันทึกบัญชีของบริษัทก็น่าจะมีปัญหา ในการลงบันทึกจำนวนหนี้ และรายการอื่นๆ หลังจากนั้น การบินไทยมีระยะเวลาดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ 5 ปี และขยายเวลาได้ 2 ครั้ง ๆ ละ 1 ปี รวมเป็น 7 ปี

อย่างไรก็ตาม การประชุมเจ้าหนี้เพื่อโหวตรับแผนหรือไม่รับแผน จะมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานการประชุม แผนจะผ่านความเห็นชอบตามเกณฑ์ของกฎหมาย ต้องมีกลุ่มเจ้าหนี้ใดกลุ่มหนึ่ง ที่เจ้าหนี้เกินครึ่งหนี่งและมีเสียงหรือหนี้เกินกว่า 2 ใน 3 ของเจ้าหนี้ทั้งหมด รับแผน และเจ้าหนี้ทุกกลุ่มเห็นชอบแผนเกินกว่า 50% หากเจ้าหนี้รายใดที่ไม่เห็นด้วย จะต้องร้องคัดค้านต่อศาลฯเอง

ทั้งนี้ การบินไทยนับว่าเป็นบริษัทที่มีจำนวนหนี้สูงที่สุดประมาณ  2-3 แสนล้านบาท จากเดิมที่บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย หรือ TPI  เป็นบริษัทที่ยื่นขอฟื้นฟูกิจการด้วยจำนวนหนี้ถึง 1 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีเจ้าหนี้จำนวนมากรายด้วย โดยในกรณีการบินไทย มีการเช่าซื้อเครื่องบิน ซึ่งตามกฎหมายถือว่าเครื่องบินเป็นสินทรัพย์ของเจ้าหนี้ ถ้าไม่สามารถชำระตามงวด แต่เมื่อศาลฯรับคำร้องขอฟื้นฟู ก็สามารถคุ้มครองได้ชั่วคราวเท่านั้น แต่หากค้างชำระเกิน 2 งวด ก็ต้องจ่ายหรือยึดคืน แสดงว่าในระหว่างนี้การบินไทยก็ต้องมีการเจรจาเพราะกว่าจะกลับมาบิน ค่างวดก็ค้างเกิน 2 เดือนแล้ว

สำหรับรายชื่อผู้ทำแผน ตามกฎหมายจะเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลได้ แต่ในกรณีการบินไทยที่เสนอรายชื่อผู้ทำแผน 5 คน และนิติบุคคลอีก 1 ราย ซึ่งผู้ทำแผน 5 รายเป็นกรรมการของบริษัทด้วย  หลังจากที่ศาลฯเห็นชอบแผนฟื้นฟูแล้ว อำนาจของกรรมการและผู้ถือหุ้นจะหมดลง ผู้บริหารแผนจะใช้อำนาจแทน โดยมีหน้าที่หลัก คือ บริหารกิจการของลูกหนี้ต่อไป  และ จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเสนอที่ประชุมเจ้าหนี้

สำหรับผู้ทำแผนจะมีบทบาทและมีหน้าที่สูงมากในการเจรจาเจ้าหนี้  ทั้งนี้ การที่มีผู้ทำแผนหลายคน ไม่ค่อยเห็นในทางปฏิบัติ เพราะส่วนใหญ่จะให้ตัวแทนลูกหนี้เป็นผู้ทำแผนและผู้บริหารแผน

ส่วนเนื้อหาในแผนฟื้นฟูกิจการ จะประกอบด้วย มีหนี้สินและทรัพย์สิน เท่าไร  แผนธุรกิจที่มีการปรับโครงสร้างธุรกิจ แนวทางเพิ่มรายรับกับลดรายจ่าย เพื่อประกอบการจัดทำประมาณการทางการเงิน และ สภาพคล่อง  และประมาณการ 5-10 ปีข้างหน้าตัวเลขจะได้รับคืนเท่าไร จากนั้นนำไปใช้ในการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งตัวเลขที่ได้จากประมาณการ ให้เจ้าหนี้ทราบว่าจะได้รับชำระหนี้เท่าไรหรือหรือตัดหนี้ (hair cut) เท่าไร ซึ่งจะมาจากแผนธุรกิจ จะได้รู้ถึงความสามารถการชำระหนี้ ถ้าไม่สามารถชำระหนี้ที่เหลือจะทำอย่างไร อาจะเป็นการแปลงหนี้เป็นทุน ตัดหนี้ ซึ่งผู้ทำแผน กับเจ้าหนี้ก็ต้องเจรจาทำความเข้าใจ รวมถึงการปรับโครงสร้างทุน อาทิ ลดทุน เพิ่มทุนอย่างไร ผู้ถือหุ้นเดิมลดสัดส่วนเท่าไร

ทั้งนี้กรณีเจ้าหนี้การค้าที่การบินไทยไม่ได้ชำระ แต่เมื่อจะดำเนินธุรกิจต่อจะทำอย่างไร ได้แก่ หนี้ค่าน้ำมันกับบมจ.ปตท. (PTT) หรือ วัตถุดิบทำอาหาร ค่าจอดสนามบิน เมื่อการบินไทยกลับมาบินก็ต้องกลับไปซื้อซัพพลายเออร์เดิม นั้นแม้ว่าจะอยู่ภาวะพักชำระหนี้ แต่การชำระหนี้ที่เป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินธุรกิจปกติ ก็ชำระได้ เช่น น้ำมันก็ต้องจ่ายก่อนทำการบิน หรือหนี้สนามบิน ส่วนลูกค้าที่ขอ Refund ก็อาจไม่ได้

อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าแผนฟื้นฟู ได้คุ้มครองลูกจ้าง ซึ่งลูกจ้างก็เป็นหนี้บุริมสิทธิ สิทธิตามกฎหมายแรงงาน ก็ยังมีอยู่ อย่างไรก็ดี หากการเลิกจ้างมีอยู่ในแผนธุรกิจทำได้ เพราะมีความจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่าย หรือโครงสร้างธุรกิจเปลี่ยนไปที่ไม่จำเป็นต้องมีพนักงานจำนวนมาก ขณะที่สัญญาต่าง ๆ ที่ผูกพัน กับลูกหนี้ก็ยังมีการผูกพันอยู่  ส่วนเจ้าหนี้มีประกันก็มีสิทธิเหนือทรัพย์ ต่อให้ไม่ยื่นฟื้นฟู  สิทธิไม่ได้หายไปและหากหลักประกันไม่คุ้มหนี้ ก็ไม่ได้คุ้มครอง

Back to top button