“ผู้ว่าฯธปท.” แจงกลางสภาฯ ซอฟต์โลน 5 แสนล้าน อุ้ม SME ไม่ใช่กู้เงิน แต่ช่วยเสริมสภาพคล่อง

"ผู้ว่าฯธปท." แจงกลางสภาฯ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 5 แสนล้าน อุ้ม SME ไม่ใช่กู้เงิน ไม่สร้างภาระทางการคลัง แต่แต่ช่วยเสริมสภาพคล่อง


นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 2 เกี่ยวกับ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ (เอสเอ็มอี)​ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 5 แสนล้านบาท (พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนลบ.)

โดยนายวิรไท ระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)​ มีความไม่แน่นอนสูงมาก เพราะยังไม่มีใครรู้ว่าปัญหาดังกล่าวจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ซึ่งสร้างปัญหาให้ทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ สถาบันการเงิน ผู้กำหนดนโยบาย จึงได้ออกมาตราการสินเชื่อซอฟต์โลนของธปท. เพื่อช่วยผู้ก่อบการรายย่อยอย่างทั่วถึง

และขณะนี้มีผู้ได้รับความช่วยเหลือแล้วไปแล้ว 35,217 ราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ย 1.65 ล้านบาทต่อราย รวมวงเงิน 58 ,208 ล้านบาท โดยร้อยละ 51 เป็นธุรกิจขนาดเล็ก ที่วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท

“ปัญหาการขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะอาจจะนำไปสู่ปัญหาการมีหนี้สินล้นพ้นตัว ปัญหาการล้มละลาย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท ชี้แจงในรายละเอียดเพิ่มเติมว่า สำหรับ พ.ร.ก.ซอฟต์โลนเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีจะมีมาตรการทางการเงิน 4 ด้าน คือ

1.การลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ 0.50% ต่อปี ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

2.การเลื่อน/ลดภาระการชำระหนี้ ซึ่งมีลูกหนี้ได้รับการช่วยเหลือแล้วกว่า 1.1 ล้านราย ยอดเงินกว่า 2.1 ล้านล้านบาท

3.การให้สินเชื่อเพิ่มเติม โดย ธปท.อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 5.8 หมื่นล้านบาท ลูกค้า 35,200 ราย ในส่วนธนาคารออมสินอนุมัติสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินอื่น 5.5 หมื่นล้านบาท ลูกค้า 9,150 ราย ธนาคารออมสินอนุมัติสินเชื่อของตัวเอง 4,000 ล้านบาท ลูกค้า 625 ราย สินเชื่อเพิ่มของสถาบันการเงิน โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)​ ค้ำประกัน 3.1 หมื่นล้านบาท ลูกค้า 38,825 ราย

รวมลูกหนี้ที่ได้รับสินเชื่อไปแล้ว 8.4 หมื่นราย ยอดเงินกว่า 1.48 แสนล้านบาท แต่ตัวเลข 8.4 หมื่นรายนี้ นายวิรไท กล่าวว่า ยังไม่พอใจ เพราะยังมีลูกค้าเอสเอ็มอี รออีกมาก ซึ่งต้องเร่งสถาบันการเงินต่อไป โดยให้ความสำคัญกระจายไปยังเอสเอ็มอีขนาดเล็ก

4.การเร่งปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก โดยผ่อนคลายกฎเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงิน เพื่อให้เร่งปรับโครงสร้างหนี้โดยไม่ต้องรอให้เป็นหนี้เสีย

ปัจจุบัน มีวงเงินสินเชื่อซอฟต์โลน 58,208 ล้านบาท มีผู้ประกอบการได้รับการช่วยเหลือ 35,217 ราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ยรายละ 1.65 ล้านบาท ซึ่งแยกเป็น ธุรกิจขนาดเล็กวงเงินเดิมไม่เกิน 5 ล้านบาท 51% และธุรกิจขนาดเล็กวงเงินเดิม 5-20 ล้านบาทอีก 23% โดย 51% ของเอสเอ็มอีที่ได้รับสินเชื่อประธอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง

ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวได้รับสินเชื่อ 2,600 ราย วงเงิน 5,100 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนของลูกหนี้ในต่างจังหวัด 71% และเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงค่อนข้างสูง 70%

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้แต่ลูกค้าชั้นดี ความเสี่ยงต่ำนั้น นายวิรไท กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง

อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีนั้นให้ความสำคัญใน 4 มิติ คือ

1.การดูแลเยียวยาผู้ประกอบการอย่างรวดเร็วและทั่วถึง

2.มาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการจะต้องไม่นำไปสู่ปัญหาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งนับโชคดีที่ระบบสถาบันการเงินขณะนี้มีความแข็งแกร่งที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ แต่หากเกิดปัญหาจะทำให้เกิดวิกฤตทางการเงินที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น

3.ไม่สร้างภาระทางการคลัง และภาษีของประชาชนมากเกินควร

4.โครงสร้างระบบเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลายจะมีต่างไปจากอดีตมาก วิถีชีวิต พฤติกรรมการบริโภค วิถีการทำธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงไป มาตรการทางการเงินต้องเอื้อและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับตัวไปสู่โครงสร้างใหม่

นายวิรไท กล่าวในช่วงท้ายของการชี้แจงว่า การออก พ.ร.ก.ซอฟต์โลนนี้ เป็นรูปแบบเดียวกับเมื่อครั้งที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 54 และไม่ถือเป็นการกู้เงิน ต่างกับการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล และไม่ถือเป็นหนี้สาธารณะ ไม่เป็นภาระภาษีให้กับประชาชน และไม่จำเป็นต้องใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาสภาพคล่องในรูปของเงินบาท

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า สถานภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) มีความหลากหลาย ทั้งในเรื่องโครงสร้าง ขนาดทุน ประสบการณ์ ทำให้ความต้องการสินเชื่อมีความแตกต่างกันไปด้วย

ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้ได้รับผลกระทบรุนแรง รัฐบาลจึงเตรียมหาทางช่วยเหลือให้อยู่ต่อไปได้ โดยได้หารือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการเพื่อเร่งพิจารณาออกมาตรการเพิ่มเติมให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งการช่วยเหลืออาจมีรูปแบบเป็นการจัดตั้งกองทุนประกอบเงื่อนไข ซึ่งต่างไปจากสินเชื่อ

“รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะดูแลเอสเอ็มอีที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงิน เพราะไม่มีประสบการณ์ในการกู้เงินจากสถาบันการเงิน ขนาดยังไม่ใหญ่นัก ยังไม่เข้มแข็งเรื่องเงินทุน ถ้าเป็นภาวะปกติคงเติบโตไปได้ แต่ในภาวะเช่นนี้จะเป็นที่น่าเสียดายหากถูกกระทบจนล้มหายตายจากไป เพราะยังอยู่ในช่วงการเติบโตในช่วงแรก” นายอุตตม กล่าว

Back to top button